ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการปลูกพืชหลัก ๆ หลายชนิด ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาแตกต่างกัน ทั้งจากการขาดปัจจัยการผลิต ได้แก่ การขาดน้ำ ราคาผลผลิตแปรปรวน และผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่ยาวนานก่อให้เกิดสารตกค้างในดินและสิ่งแวดล้อม การนำเสนอโครงการวิจัยเรื่องการจัดการการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทานตะวันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย เพื่อสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ครบถ้วนตั้งแต่การผลิตพืชและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสำหรับพืชทางเลือก ซึ่งมีการนำเสนอทานตะวันในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวนี้ เนื่องจากเป็นที่ใช้น้ำน้อย และปัจจุบันมีการนำทานตะวันมาผลิตเป็นอาหารสุขภาพและได้รับความสนใจนอกเหนือจากการผลิตน้ำมันที่เป็นคุณประโยชน์ดั่งเดิมของทานตะวัน นอกจากนี้ยังสามารถสร้างแนวคิดการเชื่อมโยงระบบการปลูกพืชที่เกษตรกรมีความสามารถวางแผนการปลูกและจัดการกับผลผลิตได้อย่างครบวงจรเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนและครัวเรือน
ในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้พบว่าหน่วยงานและเกษตรกรในพื้นที่ให้การสนับสนุนการผลิตทานตะวันในลักษณะการเป็นอาหารปลอดภัย อาหารสุขภาพ และมุ่งหวังให้เป็นพืชส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญในพื้นที่เป้าหมายคือการที่พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ ด้วยเหตุนี้การปลูกทานตะวันแบบผสมผสานในลักษณะของการปลูกพืชสวน คือการวางแผนการจัดการน้ำ และปลูกอย่างประณีต จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่สูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในลักษณะของการจัดการผลิตแบบพืชปลูกเชิงเดี่ยว รวมทั้งการปลูกพืชที่ขนาดเล็กที่มีความประณีตจะทำให้มีการดูแลที่ทั่วถึง จะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีและยากำจัดศัตรูพืชที่มีการใช้สูงเมื่อมีการปลูกในพื้นที่กว้างได้
เนื่องจากทานตะวันเป็นพืชใหม่ในพื้นที่ ไม่มีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน การถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงควรเริ่มจากกลุ่มที่สนใจนำมาเป็นอาหารสุขภาพใช้ในครัวเรือน เริ่มทดลองปลูก และทดลองทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทานตะวัน เพื่อให้เกษตรกรรายดังกล่าวนั้นเป็นวิทยากรภายในกลุ่มหรือระหว่างกลุ่ม ถ่ายทอดความรู้จากเกษตรกรสู่เกษตรกร ซึ่งจะให้ผลดีกว่าการส่งเสริมกลุ่มใหญ่ จำนวนมาก แต่ไม่สามารถทดลองปลูกได้จริงเนื่องจากเกิดปัญหาการขาดน้ำ
ผลจากการดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีได้มีการจัดทำช่องทางเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทานตะวัน ได้แก่ การจัดทำคู่มือข้อมูลทานตะวันที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ประโยชน์จากการแปรรูปผลผลิต และคุณค่าทางโภชนาการจากทานตะวัน และการจัดทำเว็บเพจเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการผลิตพืชรวมทั้งการผลิตทานตะวันและพืชชนิดอื่นๆ สำหรับการติดต่อกับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ซึ่งปัจจุบันเว็บเพจเป็นเอกสารเผยแพร่ข้อมูลที่นำเสนอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป