การใช้เทคนิคอะควาโปนิกส์ในการผลิตผักปลอดสารพิษกับกลุ่มปลูกผักในจังหวัดนครศรีธรรมราช
นักวิจัย
พื้นที่รับประโยชน์
คู่มือถ่ายทอดองค์ความรู้
การถ่ายทอดเทคโนโลยีอควาโปนิกส์ให้กับกลุ่มผลิตผักปลอดสารพิษในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ได้รับการถ่ายทอดจากโครงการ ฯ ไปปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ จังหวัดนครศรีธรรมราช คัดเลือกอาสาสมัครเพื่อจัดทำแปลงสาธิตการใช้เทคโนโลยีอควาโปนิกส์กับการผลิตผักโฮโดรโปนิกส์ที่มีอยู่แล้ว จัดกระบวนการเรียนรู้โดยการจัดอบรม การดูงานจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพที่คล้ายคลึงกัน การติดตามให้คำแนะนำแก้ปัญหาการปรับใช้เทคโนโลยีอควาโปนิกส์ และสรุปผลการเรียนรู้หลังจากสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าว
ผลที่ได้จากการทำโครงการคือได้พื้นที่ในการถ่ายทอด 4 พื้นที่คือ
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักไฮโดรโพนิกส์ ต. โพธิ์เสด็จ อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบารอกัตไฮโดรโพนิกส์ฟาร์ม ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช
- กลุ่มผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ ต. ตอนตะโก อ. ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช
- สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครศรีธรรมราช ค่ายวชิราวุธ ต. ปากพูน อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช สามารถติดตั้งระบบอควาโปนิกส์เพื่อใช้สาธิต 1 ชุดต่อพื้นที่ มีผู้เข้ารับการถ่ายทอดทั้งหมด 179 คน
ข้อมูลการใช้ระบบอควาโปนิกส์ในการผลิตผักเพื่อการค้าพบว่า ได้ผลผลิตปลา 150 กิโลกรัมต่อบ่อต่อ 4 เดือน ผลผลิตผักผักบุ้ง ผักสลัด ผักขึ้นฉ่าย และมะเขือเทศ เท่ากับ 560, 160, 180 และ 280 กิโลกรัมต่อ 4 เดือน ตามลำดับ คิดเป็นรายได้จากการเลี้ยงปลาร่วมกับผักบุ้ง ผักสลัด ผักขึ้นฉ่าย และมะเขือเทศ เป็นจำนวนเงิน 11,200 16,000 12,600 และ 28,000 บาทต่อ 4 เดือน ตามลำดับ และมีกำไรจากการเลี้ยงปลาร่วมกับผักบุ้ง ผักสลัด ผักขึ้นฉ่าย และมะเขือเทศ เป็นจำนวนเงิน 6,800 10,360 7,200 และ 22,400 บาท ตามลำดับ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าปุ๋ยในการปลูกผักได้ 700 บาท/เดือน เมื่อเทียบกับระบบผลิตไฮโดรโปนิกส์เดิม สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยได้ 8,400 ต่อปี และมีผลผลิตที่เป็นปลาเพิ่มขึ้นมา เกษตรกรมีการยอมรับการใช้เทคโนโลยีแนวโน้มในทางบวก มีความตื่นตัว และตระหนักที่จะผลิตผักปลอดสารพิษหรือผักอินทรีย์กันมากขึ้น