งานวิจัยเรื่อง การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องทอผ้าที่สามารถพกพาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีเทคนิคการแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่ผ่านการทอจากเครื่องทอผ้าที่สามารถพกพา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น โดยมีการดำเนินการวิจัยดังนี้ 1) ศึกษาการทอผ้าโดยใช้เครื่องทอผ้า 2 ตะกอ ที่สามารถพกพา 2) จัดทำคู่มือพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอด้วยเครื่องทอผ้าแบบพกพา และ 3) ถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องทอผ้าที่สามารถพกพาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้แก่กลุ่มทอผ้าไหมทอมือ 2 วิสาหกิจชุมชนได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านพันนานคร จังหวัดสกลนคร และกลุ่มทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ จังหวัดสระแก้ว 3) ผลิตผืนผ้าโดยกำหนดให้ทอจากเครื่องทอผ้าที่สามารถพกพา และ 4) นำผ้าผืนที่ได้จากการทอด้วยเครื่องทอพาแบบพกพาออกแบบและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงพาณิชย์
ผลการจัดทำคู่มือองค์ความรู้ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอด้วยเครื่องทอผ้าแบบพกพา” มีหัวข้อสำคัญประกอบด้วย 1. ความรู้เกี่ยวกับเครื่องทอผ้าแบบพกพา 2. การประกอบเครื่องทอผ้าแบบพกพา 3. การเตรียมด้ายและการทอผ้าด้วยเครื่องทอแบบพกพา 4. การออกแบบลายทอ และ 5. ผลิตภัณฑ์จากเครื่องทอแบบพกพาผลการทดสอบใช้เครื่องทอผ้าที่สามารถพกพาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องทอผ้าทั่วไป เครื่องทอผ้าแบบพกพาช่วยให้ทอได้เร็วขึ้น ทอง่ายขึ้น เครื่องมีความแข็งแรง นั่งทอได้สะดวก หากนำมาสร้างได้ในระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นต้องการไว้ใช้ เครื่องทอผ้าเคลื่อนย้ายและนำมาตั้งทอในตัวบ้านได้ สามารถประกอบเครื่องทอนี้ตามแบบที่เห็นได้ ติดตั้งด้ายยืนขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น สะดวกต่อการม้วนเก็บผืนผ้าที่ทอแล้วเพิ่มขึ้น คุ้มค่าต่อการลงทุนและทำให้ผู้หัดทอรายใหม่ทอผ้าเป็นเร็วขึ้น ผลการผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงพาณิชย์พบว่า ไม่จำเป็นต้องต้องทอผ้าครั้งละมาก ๆ เหมือนเดิม ทำให้ออกแบบลายผ้าและทอได้หลายลายมากขึ้น ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้แก่ ผ้าผืน กระเป๋า เสื้อ ผ้าคลุมไหล่ รองเท้าผ้าใบ และตุ๊กตาของชำร่วย ความพึงพอใจต่อเครื่องทอผ้าแบบพกพาและคู่มือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอ โดยรวมรายด้านอยู่ในระดับมาก