การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย การย้อมใยสับปะรดด้วยสีธรรมชาติ การทอผ้า การเคลือบผ้ากันน้ำ และการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ แบบมีส่วนร่วมระหว่างทีมนักวิจัย และชุมชน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี จำนวน 23 คน มีกิจกรรม 5 กิจกรรม ประกอบด้วยการสำรวจองค์ความรู้ การรวบรวมองค์ความรู้ การประมวลและกลั่นกรององค์ความรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการประเมินผลโครงการ ผลการดำเนินงาน พบว่าชุมชนมีความต้องการองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรด ซึ่งนำมาประมวลเป็นองค์ความรู้ได้เป็นหลักสูตรฝึกอบรมจำนวนห้าหลักสูตร ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพเส้นใย การย้อมใยสับปะรดด้วยสีธรรมชาติ การทอผ้าและการทดสอบสมบัติผ้า การเคลือบผ้ากันน้ำ และการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลการประเมินโครงร่างหลักสูตร พบว่าทุกหลักสูตรมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 4.76 ± 0.14 และผลการประเมินความสอดคล้องของส่วนประกอบของหลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่าส่วนประกอบของหลักสูตรมีความสอดคล้องกัน มีค่า IOC เท่ากับ 0.934 ± 0.06 ผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีพบว่าผู้ผ่านการอบรมในทั้งห้าหลักสูตรมีความรู้เพิ่มขึ้นโดยมีคะแนนก่อนฝึกอบรมเฉลี่ยเท่ากับ 2.21 ± 0.19 คิดเป็นร้อยละ 44.2 อยู่ในระดับปรับปรุง มีค่าคะแนนหลังการฝึกอบรมเฉลี่ยเท่ากับ 4.23 ± 0.13 คิดเป็นร้อยละ 84.6 อยู่ในระดับดี มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้เฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 76.52 ± 3.46 ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม ในภาพรวมพบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีระดับความพึงพอใจในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.11 ± 0.62 ทั้งนี้รูปแบบและเทคนิคการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่ชุมชน ทำให้นักวิจัยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปเผยแพร่สู่ผู้ใช้จริงได้ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันตลอดระยะเวลาการดำเนินการ ซึ่งสามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจของผู้รับการอบรม สร้างความสนใจ และความเชื่อมั่นในการที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการผลิตแบบเดิมตามความเคยชิน มาสู่การผลิตที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้