การดำเนินงานโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีบล็อกปูถนนรีไซเคิล มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมการสร้างถนนรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิล ในแต่ละพื้นที่เป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญของการในแยกขยะพลาสติกแล้วนำเอามาทำเป็นบล็อกปูถนนรีไซเคิล ตลอดจนให้กลุ่มเป้าหมายสามารถขยายผลสู่เครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีบล็อกปูถนนรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกชุมชนแบบพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้นำชุมชน ผู้รับเหมา ประชาสัมพันธ์ นายช่าง/วิศวกรโยธา ผู้อำนวยการกอง ปลัด นักเรียน/นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจ หรือบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเมือง รวมทั้งสิ้น 3 พื้นที่เป้าหมาย ในการดำเนินงานโครงการ ฯ ดังกล่าว มีผู้เข้ารับการอบรม 129 คน โดยแยกเป็นชุมชนวิทยาพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย 40 คน ชุมชนอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก 44 คน และองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 45 คน
ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ ฯ ของผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 3 พื้นที่เป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ “มาก” ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจถึงปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศและได้ทราบแนวทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ได้เรียนรู้วิธีการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิล ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกขยะพลาสติก การออกแบบส่วนผสม กระบวนการผลิต และวิธีการผลิต ตลอดจนได้มีส่วนร่วมในการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิล หรือลานกิจกรรมสาธารณะในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นยังพบว่าผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้จากวิทยากรอยู่ในเกณฑ์ “มากถึงมากที่สุด” จากผลการประเมินความรู้ความเข้าใจในเรื่องบล็อกปูถนนรีไซเคิล ก่อนเข้าอบรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ “น้อยที่สุด” แต่เมื่อหลังจากการอบรมเรื่องบล็อกปูถนนรีไซเคิล ไปแล้วปรากฎว่าความรู้ ความเข้าใจในเรื่องถนนรีไซเคิลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ “มากที่สุด” และสามารถขยายผลสู่ผู้รับประโยชน์ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นในอัตราทวีคูณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นกลุ่มวิศวกร/ช่างโยธา ผู้รับเหมา ผู้นำชุมชน นักประชาสัมพันธ์ และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโดยตรง ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางในการก่อตั้งเครือข่ายของกลุ่มบล็อกปูถนนรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกในชุมชน เพื่อศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีบล็อกปูถนนรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติก และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการนำบล็อกปูถนนรีไซเคิล เข้าสู่นโยบายของรัฐบาลในรูปแบบของวัสดุก่อสร้าง เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้างเพื่อพัฒนาการให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเกิดความเข้มแข็งในชุมชน