การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนจำแนกตามฐานทรัพยากรการท่องเที่ยว
- วิเคราะห์ปัญหา และอุปสรรคต่อการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความต้องการและองค์ความรู้ของภาคีการท่องเที่ยวต่อการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- พัฒนาเครือข่ายการตลาดเชิงรุก โดยมีรายละเอียดในการดำเนินการจัดการองค์ความรู้ และถ่ายทอดสู่ชุมชนกลุ่มเป้าหมายจำแนกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลงานวิจัย การวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคนำมาสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ภาคีการท่องเที่ยวต้องการ การขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ชุมชนเป้าหมาย เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และการขับเคลื่อนแผนการตลาดเชิงรุก
ผลการศึกษาพบว่าจากฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวสามารถกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ชาติพันธุ์ในกลุ่มจังหวัดอารยธรรมล้านนาได้ 7 รูปแบบที่ก่อให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยว 7 เส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศบนเส้นทาง R3A และ R3B ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงพุทธ การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม จากปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งสรุปได้ 2 ประเด็นหลัก คือปัญหา และอุปสรรคที่เกิดจากการจัดการภายใน และปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการจัดการภายนอก สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาองค์ความรู้ที่ภาคีการท่องเที่ยวต้องการนำไปพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวได้องค์ความรู้ ได้แก่
- การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
- รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์
- การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- การจัดการนักท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว
จากการอบรมเชิงปฏิบัติการผลการประเมินความรู้ของผู้เข้าร่วมอบรมพบว่าผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นบุคลากรทางการท่องเที่ยวมีองค์ความรู้ในภาพรวม ในระดับปานกลาง ซึ่งภายหลังจากได้รับการอบรมแล้วผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดี ซึ่งจากการอบรมดังกล่าวทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 11.68% และการขับเคลื่อนเส้นทาง และรูปแบบการท่องเที่ยวโดยผ่านกระบวนการปฏิบัติและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงตามกรอบมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการจัดเวทีวิชาการ การประชาสัมพันธ์การดำเนินงานจากสื่อภายในประเทศ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ