ประชาชนส่วนใหญ่ในชนบทเป็นเกษตรกรที่มีเวลาว่างและไม่มีรายได้หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต แม้จะมีความพยายามและกระตือรือร้นทำอาชีพเสริม แต่ด้วยการขาดความรู้และประสบการณ์ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จและขาดทุน โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์
- สำรวจความต้องการของชุมชนและรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเพาะเห็ดที่ชุมชนต้องการ
- จัดการองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน และนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เพื่อการเพาะเห็ดครบวงจร การเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติ และจัดทำคู่มือ
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยเศษวัสดุในไร่นา การเพาะเห็ดครบวงจร และการเหนี่ยวนำเห็ดให้เกิดในธรรมชาติแก่เกษตรกร
ผลการวิจัยพบว่าดินในตำบลหนองเรือส่วนใหญ่มีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในช่วงกรดรุนแรงมากถึงกรดปานกลาง มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อยู่ในระดับต่ำมาก จึงควรมีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ด้านการเพาะเห็ดครบวงจรผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้การเพาะเห็ดตั้งแต่การแยกเชื้อบริสุทธิ์จากดอกเห็ด การเลี้ยงเชื้อในวุ้น PDA การขยายเชื้อบนเมล็ดธัญพืช การผลิตเชื้อเห็ดถุง และการเปิดดอกเห็ด เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดแล้ว มีการทำปุ๋ยหมักจากก้อนเห็ดที่ใช้แล้ว ด้านการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติ มีการใส่เชื้อเห็ดเผาะลงในกล้ายางนาและใส่เชื้อเห็ดตับเต่าลงในต้นแคและต้นโสน เพื่อปลูกลงในพื้นที่ จำนวน 700 , 500 และ 500 ต้น ตามลำดับ มีการฝังก้อนเชื้อเห็ดตีนแรดลงในแปลงผัก จำนวน 500 ก้อน ผลการประเมินความรู้พบว่า หลังการอบรมมีคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 82.65 ผ่านเกณฑ์การประเมินและมีความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดินและการเพาะเห็ดแตกต่างจากก่อนเข้ารับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจในภาพรวมเฉลี่ยร้อยละ 94.39 ซึ่งเป็นระดับความพึงพอใจมากที่สุด ผู้เข้ารับการอบรมจะนำความรู้ไปใช้ในการเพาะเห็ดและเหนี่ยวนำให้เกิดในธรรมชาติร้อยละ 99.28 และจะใช้เศษวัสดุจากไร่นาเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ร้อยละ 100 มีการต่อยอดนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปสร้างงานอาชีพโดยการรวมกลุ่มในลักษณะวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตเห็ดจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนต่อไป