โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีใช้คอนกรีตผสมน้ำยางพาราพัฒนาสระน้ำต้านภัยแล้ง ระยะที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : พื้นที่โครงการชลประทานจังหวัดชัยภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพื้นที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้น้ำยางพาราในการบำรุงรักษาระบบชลประทานไปยังภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ ซี่งได้ทำการสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลการวิจัย ประกอบด้วย โครงการพัฒนาวัสดุเคลือบผิวคลองผสมน้ำยางพาราสำหรับใช้บำรุงรักษาคลองชลประทาน, โครงการพัฒนาสูตรมอร์ต้าผสมน้ำยางพาราสำหรับใช้เป็นตัวเชื่อมประสานรอยร้าวในคลองส่งน้ำชลประทาน และโครงการพัฒนาคุณสมบัติทางกลและกายภาพของคอนกรีตผสมน้ำยางพารา ได้นำผลการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยจัดทำคู่มือปฏิบัติงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้น้ำยางพาราในงานบำรุงรักษาระบบชลประทานและนำไปเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคทฤษฏี ประกอบด้วยที่มาและความเป็นมาของโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี, การสังเคราะห์องค์ความรู้ของการวิจัย, วิธีการเตรียมส่วนผสม มอร์ต้าร์ และวัสดุเคลือบผิวคลอง, ขั้นตอนการเตรียมคลองสำหรับใช้สาธิตซ่อมแซม, การซ่อมแซมบำรุงรักษาคลองส่งน้ำและการจัดสรรน้ำในพื้นที่โครงการชลประทานจังหวัดชัยภูมิ, ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำยางและองค์ประกอบต่างๆ ในน้ำยางพารา และการสนทนากลุ่ม : ปัญหาและแนวทางการแก้ไขระบบคลองส่งน้ำชลประทานในพื้นที่ สำหรับขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคปฏิบัติ ประกอบด้วยการกำจัดวัชพืชขุดลอกตะกอนและทำความสะอาดคลองส่งน้ำที่ใช้ในการสาธิตซ่อมแซม, สาธิตวิธีการผสมมอร์ต้าร์และวัสดุเคลือบผิวคลองผสมน้ำยางพาราในพื้นที่ไร่นา และสาธิตวิธีการซ่อมแซมคลองส่งน้ำใช้ผสมมอร์ต้าร์และวัสดุเคลือบผิวคลองผสมน้ำยางพารา โดยคลองส่งน้ำที่ใช้ในการสาธิตประกอบด้วยคลองซอยอยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสำราญ และคลองส่งน้ำสายใหญ่อยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จากผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติการใช้น้ำยางพาราในงานบำรุงรักษาระบบชลประทานจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกลุ่มผู้เข้าร่วมการอบรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปขยายผลในพื้นที่ต่อไปในอนาคต