การวิจัยนี้เป็นการจัดการความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแห้งให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแห้งให้ได้มาตรฐานสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้กับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุนชน ดำเนินการ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านท่าโพธิ์ อำเภอกาญจนดิษฐ์ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนหาดนางกำ อำเภอดอนสัก กลุ่มเกษตรกรตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ และกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเลบ้านบางหมก ตำบลคลองฉนาก อำเภอเมือง จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 111 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลผลการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีและความพึงพอใจของผู้ร่วมกิจกรรมโดยใช้โปรแกรมสถิติสำเร็จรูป
ผลการดำเนินงานโครงการ พบว่า มีการจัดการองค์ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบให้กับเกษตรกรด้านกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแห้งสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการกะเทาะเปลือกและคัดแยกขนาด และกระบวนการบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย และได้จัดทำคู่มือถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแห้ง จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีภาคทฤษฎีและปฏิบัติกลุ่มละ 3 วัน สำหรับผลการดำเนินการของกลุ่มหลังการอบรม พบว่า เกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตทำให้สามารถผลิตกุ้งแห้งได้มากขึ้น โดยสามารถผลิตกุ้งแห้งได้เดือนละ 1,000 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 800 บาท รวมมูลค่า 800,000 บาท/เดือน หรือปีละประมาณ 5,000,000 บาท (คิดกระบวนการผลิตปีละ 6 เดือน ตามสภาวะภูมิอากาศ) ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 50 % รวมทั้งมีการจัดการตลาดเชิงพาณิชย์ทั้งแบบขายตรงและขายแบบออนไลน์ทำให้ขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น และเมื่อประเมินความรู้ความเข้าใจผู้เข้ารวมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี พบว่า กลุ่มเกษตรกรมีความรู้และมีการนำไปใช้ประโยชน์ และมีการทำงานร่วมกันของกลุ่มและการบริหารจัดการเชิงธุรกิจร่วมกันเพิ่มขึ้น และมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการวิจัยในระดับมาก ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าควรมีการขยายผลการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะได้รับความสนใจและเป็นโครงการที่มีประโยชน์สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแห้งสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ทั้งตลาดในประเทศและสู่ตลาดต่างประเทศ