ข้าวโพดเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพสูงในการนำมาทำเป็นข้าวโพดหมักที่มีคุณค่าทางโภชนะสัตว์สูงสำหรับโคนม ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเพื่อใช้เป็นข้าวโพดหมักมาเป็นเวลานานร่วม 30 ปี วัตถุประสงค์ของโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหมักเพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพสูงสำหรับการเลี้ยงโคนม เพื่อ 1) ถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัย ดังนี้ (1) พันธุ์ข้าวโพดหมักที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี (2) เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหมักเพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพสูงสำหรับการเลี้ยงโคนม และ (3) เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิด สุวรรณ 5 ให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงและมีคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ปลูกในรุ่นต่อไป 2) เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสใช้เมล็ดพันธุ์สุวรรณ 5 และลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452 ในราคาต่ำกว่าพันธุ์การค้าอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต 3) ส่งเสริมอาชีพการผลิตข้าวโพดหมักที่มีคุณภาพดีเพื่อจำหน่ายให้ ผู้เลี้ยงโคนม และสหกรณ์โคนมใช้ในการผลิตอาหารผสมเสร็จที่มีคุณภาพดีสำหรับผู้เลี้ยงโคนมให้ได้น้ำนมโคที่มีคุณภาพสูงสำหรับนมโรงเรียนและผู้บริโภค และ 4) เพื่อให้มีการพบกันระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดหมัก และผู้เลี้ยงโคนม ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ปัญหาและแนวทางการแก้ไข สร้างเครือข่ายสัมพันธ์ในการพัฒนาการผลิตข้าวโพดหมักและการเลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืน
การดำเนินงานมีดังนี้
- การฝึกอบรมครั้งที่ 1 ให้กับเกษตรกรผู้นำ จ.นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี โดยร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา และสระบุรี วันที่ 15 ม.ค. พ.ศ.2562 รวม 92 คน ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และปลูกแปลงสาธิตพันธุ์สุวรรณ 5 สุวรรณ 4452 และลูกผสมเดี่ยวน้ำมันสูงพันธุ์ KOSX 5404
- การฝึกอบรมครั้งที่ 2 ให้กับเกษตรกรผู้นำของสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด และสหกรณ์ โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด และเกษตรกร จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี และชลบุรี วันที่ 28 พ.ค. พ.ศ.2562 รวม 115 คน ณ สหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และปลูกแปลงสาธิตข้าวโพด 3 พันธุ์ผลการทำกิจกรรมฝึกอบรมทั้ง 2 ครั้ง พบว่า มีความพึงพอใจต่อการจัดการฝึกอบรมโดยภาพรวมในระดับมาก (=4.3) ทุกหัวข้อมีผลการประเมินสูงกว่าเป้าหมาย 3.5 และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับมาก
ผลการติดตามผลการดำเนินงานในส่วนของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมหรือได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วแล้วนำไปปลูก และนำมาทำข้าวโพดหมักเลี้ยงสัตว์ เขตภาคเหนือ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด อ.แม่ทา จ.ลำพูน เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดตัดต้นสดพร้อมฝัก หมู่ 10 ต.สระว่านพระยา อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เขตภาคกลาง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป ต.หัวลำ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เกษตรกรมีกำไรสุทธิ 5,079.17 - 5,267.50 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 44.54 - 58.53 ปริมาณน้ำนมและองค์ประกอบนมจากฟาร์มตัวอย่างที่เลี้ยงโคนมด้วยข้าวโพดหมักต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน ณ สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด พบว่า ปริมาณน้ำนมและองค์ประกอบนมเพิ่มขึ้นหลังจากเลี้ยงด้วยข้าวโพดหมักเป็นเวลา 1 เดือน ในเดือนที่ 2 ให้ปริมาณน้ำนม 14.70 กก./ตัว/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.30 และมีองค์ประกอบนมสูงกว่านมมาตรฐาน และในเดือนที่ 3 ให้องค์ประกอบนมสูงกว่านมพรีเมียม โดยมีค่าไขมัน และ TS ต่ำกว่าเล็กน้อย
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำกิจกรรมในขั้นต่อไปส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวโพดสุวรรณ 5 และสุวรรณ 4452 เพื่อใช้เป็นพันธุ์ข้าวโพดหมักให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ได้ข้าวโพดหมักคุณภาพดีใช้เลี้ยงโคนมผลิตน้ำนมคุณภาพดีเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมมูลค่าเพิ่ม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ