โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรนั้นเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตทางการเกษตรทั้งโซ่อุปทาน เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจถึงหลักการของระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะระบบการล้างผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซขนาดไมโครและนาโน และเทคโนโลยียืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรให้ง่ายต่อการนำไปใช้ของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน โดยโครงการนี้เริ่มต้นจากการสร้างระบบการล้างผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซขนาดไมโครและนาโน และทำการส่งต่อให้กับผู้ประสานงานแต่ละจังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครนายก และจังหวัดเชียงราย โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้งาน MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องล้างและกระบวนการล้างเพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และการลดปริมาณสารตกค้าง, การจัดการคุณภาพก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร, บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลทางการเกษตร และการจัดการตลาด โดยใน การถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดนั้น มีผู้เข้าร่วมโครงการโดยประมาณ 30 คน ซึ่งได้มีการทำแบบประเมินผลลัพธ์ก่อนและหลังการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยผลลัพธ์ก่อนและหลังการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยรวมในแต่ละจังหวัดอยู่ในระดับที่ดีขึ้น แม้จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่นั้นมีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีจึงทำให้มีพื้นฐานความรู้อยู่ในระดับที่มากอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้มีการติดตามผลลัพธ์การใช้งานเทคโนโลยีในแต่ละจังหวัด พบว่าเครื่องล้างผลผลิตทางการเกษตรนั้นมีผู้ใช้งานจากหลากหลายกลุ่ม โดยส่วนใหญ่ผลผลิตที่นำมาล้างจะเป็นผักสลัด นอกจากนี้ทางชุมชนนั้นมีความพึงพอใจในความสะอาดของผักและผลไม้เป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้นำมาล้างกับเครื่องล้างผลผลิตทางเกษตรด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซขนาดไมโครและนาโน นอกจากนี้ในบางชุมชนยังได้ทำการติดตั้งเครื่องผลิต O2 บริสุทธิ์ และเครื่องผลิต O3 พร้อมด้วยการเติม 1-MCP ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีฟองก๊าซขนาดไมโครนาโน เพื่อให้ผลิตผลนั้มีความสด สะอาด และสามารถยืดระยะเวลาในการเก็บได้นานกว่าเดิม ทั้งนี้ได้มีการจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดนั้นพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ประเมินผลการอบรมในระดับพึงพอใจดีมาก โดยคิดคะแนนความพึงพอใจโดยรวมเฉลี่ยออกมาได้ร้อยละ 96.8 ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด