การวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการดูแล และติดตามทารกเกิดก่อนกำหนดหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Newborn Home Health care: NHHC) มีการดำเนินงานเป็น 5 ระยะ คือ
- ค้นหาปัญหาจากการประชุมกลุ่มย่อยกับเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของ focus group กลุ่มย่อย
- ค้นหาแนวทางปฏิบัติการดูแลและติดตามทารกเกิดก่อนกำเนิดหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลร่วมกันในรูปแบบของ Focus group กลุ่มรวม จำนวน 18 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล อาจารย์พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข
- ขั้นปฏิบัติการในการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างคือ อสม. และนักศึกษาพยาบาล จำนวนรวม 218 คน ในรูปแบบการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และการศึกษาดูงาน
- ขั้นการปฏิบัติจริงจากการเยี่ยมบ้าน กลุ่มตัวอย่าง คือ อสม. จำนวน 20 คน ที่มีทารกเกิดก่อนกำหนดในชุมชนที่รับผิดชอบและได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล
- ขั้นสรุปผลการดำเนินงาน กลุ่มตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทน อสม. และตัวแทนมารดา ทารก
เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ถึงเดือนมีนาคม 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบทดสอบความรู้ มีค่าความเชื่อมั่นของ KD-20 เท่ากับ .80 และแบบสอบถามพฤติกรรมในการดูแล และติดตามทารกเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของทารกเกิดก่อนกำหนด มีค่าความเชื่อมั่นของอัลฟาครอนบาคเท่ากับ .85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
- แนวปฏิบัติการดูแลและติดตามทารกเกิดก่อนกำเนิดหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Newborn Home Health care: NHHC) ทำให้พยาบาลในหอผู้ป่วยมีแนวทางการให้ความรู้ และทักษะแก่มารดาก่อนการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าสาธารณสุข และ อสม. ในชุมชน มีแนวทางในการดูแล และติดตามทารกก่อนกำหนดที่ได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
- คะแนนความรู้ และพฤติกรรมการดูแล และติดตามทารกเกิดก่อนกำหนดหลังจำหน่ายออกจาโรงพยาบาลของกลุ่มตัวอย่างในระยะที่ 3 หลังเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ และการศึกษาดูงานมีคะแนนมากกว่าก่อนเข้าร่วมอบรมฯ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -2.861, P<0.01; t = -13.08, P<0.01 ตามลำดับ)
- คะแนนพฤติกรรมการดูแล และติดตามทารกของกลุ่มตัวอย่างในระยะที่ 4 ของกลุ่มตัวอย่างหลังเข้าร่วมปฏิบัติจริงจากการเยี่ยมบ้าน มีคะแนนมากกว่าระยะที่ 3 แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -1.952, P< 0.05)
- คะแนนพฤติกรรมของผู้ดูแลในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของทารกหลังการดูแลและติดตามของ อสม. ตามแนวปฏิบัติในการดูแลมีคะแนนสูงกว่าก่อนได้รับการดูแลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -1.274, p<0.05)
จากผลการวิจัยเห็นควรสนับสนุนแนวทางในการดูแล และติดตามทารกเกิดก่อนกำหนดโดยนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมามีส่วนร่วมในการดูแล และติดตามน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการประยุกต์มาใช้เพื่อให้ทารกเหล่านี้ได้รับการดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง