โครงการกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำสู่การใช้ประโยชน์และสร้างความยั่งยืนของชุมชน เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ออกแบบและพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ และ 2) ถ่ายทอดกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ ดำเนินกิจกรรมตลอดโครงการ ณ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย การเตรียมการ การออกแบบและพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ การถ่ายทอดกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ และการคืนข้อมูลสู่ชุมชน กลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ประชาชนทั่วไป 2) นักเรียน จากโรงเรียนในพื้นที่ และ 3) กลุ่มขับเคลื่อนองค์ความรู้ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านดอน และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออู่ทอง เก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้วยแบบสอบถาม ได้แก่ ความคิดเห็นที่มีต่อผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ และความพึงพอใจที่มีต่อกิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการดำเนินโครงการ สรุปได้ดังนี้
1. บรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ มีจำนวนทั้งสิ้น 10 แบบ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ชุดงานมงคลและอวมงคล กลุ่มที่ 2 ชุดเด็กชายและเด็กหญิง กลุ่มที่ 3 ชุดชาวนาชาย และหญิง กลุ่มที่ 4 ชุดชายหนุ่ม และหญิงสาว และกลุ่มที่ 5 ชุดคุณยาย ภายในบรรจุยาดม และยาหม่อง โดยใช้มะแขว่นเป็นส่วนผสมสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นโดดเด่น และชาวไทยทรงดำนิยมใช้ ทั้งนี้ผู้บริโภคเห็นด้วยกับผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ ด้านการออกแบบ ด้านราคา และด้านประโยชน์ใช้สอย ในระดับมากทุกด้าน
2. แผนงานด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ บรรจุยาดม และยาหม่อง พบว่า กิจกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยวัฒนธรรมการแต่งกายที่บอกเล่าเรื่องราวของไทยทรงดำ กิจกรรมกลางน้ำ ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ของฝาก ของขวัญ ของที่ระลึก และกิจกรรมปลายน้ำ ได้แก่ การสร้างมูลค่าด้วยการส่งเสริมการตลาด ผ่านการสื่อสาร ทั้งภายในกลุ่ม และภายนอกกลุ่ม
3. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ การผลิตยาดมและยาหม่อง พบว่า กลุ่มผู้ช่วยวิทยากร (แม่ไก่) มีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมากที่สุด กลุ่มเป้าหมาย มีความพึงพอใจต่อการอบรมฯโดยรวมในระดับมาก
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตลาด หัวข้อ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ จากวัฒนธรรมสู่การตลาดสินค้าชุมชน พบว่า ผู้เข้ารับการอบรมฯ มีความพึงพอใจต่อการอบรมโดยรวมในระดับมากที่สุด
5. ผลการดำเนินกิจกรรมการคืนข้อมูลสู่ชุมชน พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการคืนข้อมูล มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมโดยรวมในระดับมากที่สุด