งานวิจัยเรื่องนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความรู้เรื่องการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้แก่ กลุ่มสตรี ตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว ในโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านนายาว หมู่ 15 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2560 โดยมุ่งเน้นการวิจัยแบบเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างนักวิจัยกับชุมชน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ การจัดเวทีสนทนา และสังเกตการณ์ มีกลุ่มประชากรคือ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คือ กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว และกลุ่มนักเรียน ชั้นมัธยมชั้นปีที่ 1 – 6 ในโรงเรียนเขตพื้นที่ ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผลการวิจัยพบว่า การถ่ายทอดความรู้ในชุมชนบ้านนายาว ใช้องค์ประกอบในการจัดการความรู้ 3 ส่วน คือ คน เทคโนโลยี และกระบวนการความรู้ โดยมีขั้นตอนคือ การบ่งชี้ความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดความรู้ให้เป็นระบบ การประมวล และกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และการเรียนรู้ เพื่อนำไปทำกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้แบบมีส่วนร่วม โดยใช้กิจกรรมสำรวจชุมชนด้วยการถ่ายภาพ สู่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชน ส่งผลต่อการได้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีความแปลกใหม่ มีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เกิดโมเดลการจัดการเรียนรู้เรื่อง การเพาะเมล็ดพันธุ์นักออกแบบบ้านนายาว ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ให้กับกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว เพื่อผลิตตัดเย็บขึ้นรูป การมีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าชุมชนโดยคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่อจิตสำนึกรักบ้านเกิด และในขณะเดียวกันกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาฝีมือ ในการตัดเย็บขึ้นรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพ