โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและสร้างเครือข่ายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ของโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยโครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของแกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและสร้างเครือข่ายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุ ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยถ่ายทอดองค์ความรู้จากการจัดการความรู้งานวิจัยให้แก่แกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงนำผลของการจัดโครงการฯ จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และแผนงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและลดความ เหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย แกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การดำเนินงานโครงการแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่การจัดเตรียมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพ การจัดโครงการ 3 ครั้ง และการติดตามประเมินผลโครงการ โดยใช้การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) โดยใช้การสังเกต การสัมภาษณ์ การเยี่ยมชมกิจกรรมผลงานของแกนนำผู้สูงอายุ ผลการดำเนินงานพบว่า
- แกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุ มีศักยภาพในการนำความรู้ไปจัดกิจกรรมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ได้รูปแบบการโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้สูงอายุ ของโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ (เชียงใหม่โมเดล)
- ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “ผู้สูงวัยเชียงใหม่พฤฒิพลัง 2564” นำเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ได้คู่มือการยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผู้สูงอายุ สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ
- เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายชุมชน
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผู้สูงอายุ โดยมีโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ได้แก่ ความไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมโครงการของผู้สูงอายุ การติดภารกิจทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการจัดโครงการ ตลอดถึงสภาพอากาศในช่วงที่จัดโครงการมีวิกฤตการณ์หมอกควันไฟป่า ข้อเสนอแนะในการจัดโครงการ ควรมีการติดตามภายหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้วอย่างใกล้ชิดโดยให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงเรียนผู้สูงอายุ ตลอดถึงควรมีการวางแผนเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกล โดยจัดในรูปแบบการสัญจรเพื่อให้ความรู้แก่แกนนำโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมจากโครงการพัฒนาเป็นวิทยากรกระบวนการ และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นองค์กรชุมชนเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยในปี 2564