การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเยื่อและกระดาษพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาต่อยอดเป็นภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตภาชนะจากเยื่อเศษเหลือใช้ทางการเกษตรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชมชน และกลุ่มเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ด้านการผลิตเยื่อกระดาษอยู่แล้ว ให้ต่อยอดพัฒนาไปสู่วิธีการผลิตเยื่อและกระบวนการขึ้นรูปให้เป็นภาชนะจากเศษเหลือทางการเกษตร และสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจได้ เบื้องต้นได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกำหนดกลุ่มที่มีองค์ความรู้ในการผลิตกระดาษพื้นบ้านจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และยังคงดำเนินการผลิตกระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษจำหน่ายอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับต้นๆ ได้กลุ่มเป้าาหมายจำนวนทั้งหมด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มกระดาษจากใบสับปะรด ขี้ช้าง กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 38 คน ซึ่งทางกลุ่มเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตกระดาษจากใบสับปะรด และกระดาษจากขี้ช้าง 2) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวังยาวพัฒนา อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 28 คน เป็นกลุ่มที่ผลิตกระดาษสับปะรดและผลิตภัณฑ์จากกระดาษสับปะรด และ 3) กลุ่ม กศน. อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 31 คน เป็นกลุ่มที่ผลิตกระดาษจากเศษเหลือการขูดเส้นใยของผักตบชวา เส้นใยนำไปท่อผ้า และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชน และถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่สนใจทั่วไป รวมผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ทั้งหมดจำนวน 97 คน การอบรมได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การออกแบบภาชนะกระดาษจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วิธีการสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำภาชนะกระดาษขึ้นรูป การคิดต้นทุนราคาของการผลิตเยื่อและภาชนะ และปฏิบัติการเตรียมเยื่อกระดาษจากเศษเหลือใช้ทางการเกษตรสำหรับการผลิตภาชนะ วิธีการทำภาชนะกระดาษขึ้นรูป และการปรับปรุงคุณสมบัติภาชนะต้นแบบจากเยื่อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มีคุณสมบัติการกันน้ำ
จากการติดตามกลุ่มที่ได้เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้พบว่า กลุ่มกระดาษจากใบสับปะรด ขี้ช้าง กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เข้าอบรมได้นำองค์ความรู้ไปใช้ต่อยอดเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ และได้รับงบประมาณจัดสรรซื้อเครื่องอัดขึ้นรูปกระดาษเป็นภาชนะสำหรับใช้ประโยชน์ในชุมชน นอกจากนี้ยังต่อยอดการขึ้นรูปไปเป็นกระถางจากขี้ช้าง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทางการเกษตรและเศษหรืออื่นๆ พัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น และกลุ่ม กศน. อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แล้วได้ผลิตและส่งผลิตภัณฑ์กระดาษขึ้นรูปภาชนะจากเยื่อผักตบชวาไปขอรับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน