ผักตบชวาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำของชุมชนคลองโยงจึงส่งผลกระทบให้คลองต่างๆเกิดการเน่าเสีย ไม่สามารถสัญจรทางน้ำได้ และเกิดปัญหาน้ำท่วม แต่เนื่องจากผักตบชวามีน้ำหนักเบา เส้นใยของลำต้นมีความเหนียว ประกอบกับมีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการได้แก่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตำบลคลองโยงเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทศพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมและพักอาศัยเท่านั้น รวมทั้งมีประวัติพื้นถิ่นเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวและประเพณีทางพุทธศาสนา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้วยกระบวนการแปรรูปผักตบชวาเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวอินทรีย์ กระถางต้นไม้ และแผ่นปูพื้นคอนกรีตสู่เยาวชนและชุมชนคลองโยง รวมทั้งการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนคลองโยงเชิงวัฒนธรรม-พุทธเกษตร เป็น 2 โปรแกรม คือ แบบท่องเที่ยวครึ่งวันและแบบเต็มวัน ผลการศึกษาการผลิตปุ๋ยหมักชีวอินทรีย์จากผักตบชวาโดยใช้ทั้งใบ ลำต้น และราก ประกอบด้วย ผักตบชวาสด (ราก ใบ ลำต้น) 40% มูลวัว 20% แร่ฟอสเฟต รำข้าว และแกลบดำ ชนิดละ 12% สารจุลินทรีย์ (EM+โมลาส+สาร พด.1+NaHCO3) 4% โดยใช้ระยะเวลาหมักเพียง 35 วัน แล้วทำการอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ดด้วยอัตราส่วนผสมปุ๋ยต่อน้ำเป็น 5:1 จะได้เม็ดปุ๋ยเป็นรูปทรงกระบอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม. และความยาวอยู่ในช่วง 1.5 - 2.0 ซม. เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์จากกรมพัฒนาที่ดินและมาตรฐาน Q พบว่าปุ๋ยหมักชีวอินทรีย์จากผักตบชวานี้มีปริมาณแร่ธาตุหลักไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ปริมาณสารอินทรีย์ ค่าพีเอช อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C:N) ค่าการนำไฟฟ้า ความชื้น ขนาดของปุ๋ยหมัก ไม่มีสิ่งเจือปนที่เป็นหิน กรวด และพลาสติก รวมทั้งปุ๋ยหมักสารอันตรายโลหะหนักปนเปื้อนมีน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุสำรองได้แก่แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง โซเดียม และกำมะถันด้วย ทำให้ในภาพรวมปุ๋ยหมักนี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถพัฒนาสูตรเพิ่มแร่ธาตุหลักไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม และปริมาณสารอินทรีย์ก็จะทำให้ได้ปุ๋ยหมักอินทรีย์คุณภาพสูง
การผลิตกระถางต้นไม้จากเส้นใยผักตบชวาด้วยเครื่องจักรผลิตกระถางต้นแบบสามารถช่วยให้การผลิตได้รูปทรงมาตรฐานและรวดเร็ว ในส่วนของการผลิตแผ่นปูพื้นคอนกรีตขนาดกว้าง 24 ซม. ยาว 24 ซม. และ สูง 4 ซม. ที่ผสมชิ้นผักตบชวาแห้งด้วยอัตราส่วนไม่เกิน 0.5% มีความแข็งแรงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มอก.827-2531 จึงสามารถใช้งานปูพื้นได้อย่างปลอดภัย การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักชีวอินทรีย์จากผักตบชวาให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและชุมชนคลองโยง การแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ 3 ผลิตภัณฑ์ให้กับเยาวชนและชุมชนคลองโยง และการเยี่ยมชมโรงงานการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การจัดการโปรแกรมเส้นทางการท่องเที่ยวตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยอ้างอิงจากวิถีชีวิตของชุมชนคลองโยงตั้งแต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถึงปัจจุบันออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์แนวทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-พุทธเกษตรเป็นแบบครึ่งวันและเต็มวัน โดยมีหลากหลายกิจกรรม ได้แก่ การสอนเทคนิคการทำทองโบราณ แกะดุนทอง เป็นอัญมณียุคโบราณ พุทธศิลป์ราณและร่วมสมัย การเก็บดอกบัวและสอนพับดอกบัวเพื่อบูชาพระ ถ้าเป็นวัฒนธรรมข้าวต้องเป็นช่วงที่ตรงกับฤดูกาลการทำนา เช่น ดำนา แม่พระโพสพ และเกี่ยวข้าว การเดินไร่สวนพลูพร้อมกับการทำเซี่ยนหมากพลูเพื่อไหว้พระหรือลองรับประทานแบบคนยุคโบราณ การขอพรไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสถานที่เคารพนับถือของชุมชน การเรียนรู้การทำเกษตรแบบยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เยียมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านวัดมะเกลือ ฝึกฝนการย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือ การทำห่อหมกแล้วรับประทานร่วมกับชุมชน การเดินข้ามจังหวัดกรุงเทพฯกับนนทบุรี ด้วยสะพาน 100 ปีที่วัดมะเกลือและชมตลาดเก่า สุดท้ายที่สวนมะนาวลอยฟ้า “Lemon Me Farm & Cafe”