เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะเขือเทศเต่างอย จำนวน 78 ราย แสดงความประสงค์ขอความรู้การผลิตน้ำหมักชีวภาพด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองในมะเขือเทศโดยชีววิธี ภายหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะผู้วิจัยติดตามการผลิต การดูแลรักษา และการนำน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ไปใช้ประโยชน์ และวิเคราะห์ผลลัพธ์ ได้แก่ ผลผลิต รายได้ ความรู้ และความพึงพอใจภายหลังการนำน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ไปใช้ประโยชน์ จากนั้นได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์แก่ชุมชน เกษตรกรจำนวน 61 ราย มีความตั้งใจจะผลิต ดูแลรักษา และนำน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจำนวน 41 รายที่ใช้น้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการปลูกมะเขือเทศ 86.75 ไร่ มีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น 537,935 กิโลกรัม และ 2,259,500 บาท ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับความพึงพอใจของเกษตรกรภายหลังใช้น้ำหมัก ฯ ที่มีความพึงพอใจในระดับมากด้วยคะแนนเฉลี่ยรวม 4.31±0.76 จากคะแนนเต็ม 5.00 นอกจากนั้นการใช้น้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย อีกทั้งน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ยังสามารถจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงได้จัดตั้งกลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ขึ้น เกษตรกรมีคะแนนทดสอบความรู้เฉลี่ย 14.21±1.57 จากคะแนนเต็ม 15.00 โครงการ ฯ นี้ได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบที่มีความเหมาะสมจำนวน 4 ราย จากผลลัพธ์ดังกล่าวสรุปได้ว่าเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะเขือเทศเต่างอยที่ผลิต ดูแลรักษา และนำน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ไปใช้ประโยชน์จะสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองในมะเขือเทศโดยชีววิธี อีกทั้งเกษตรกรได้รับการปลูกฝังการทำงานด้วยหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ ความสะดวกในการใช้งานและการเก็บรักษาชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ และโครงการอบรมให้ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การผลิตน้ำหมักชีวภาพเสริมแบคทีเรียปฏิปักษ์ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาใช้แนวทางปฏิบัติด้านเกษตรอินทรีย์และใช้สารควบคุมทางชีวภาพเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ควรได้รับการพัฒนาต่อไป