การถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบอาชีพเสริมในระบบการปลูกปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) เป็นโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2559 จากการตั้งเป้าหมายอบรมถ่ายทอดให้เกษตรกรจำนวน 120 คน มีการจัดอบรมจำนวน 5 ครั้ง ตั้งเป้าหมายให้ผู้รับการถ่ายทอดสามารถนำเอาองค์ความรู้ 4 องค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 80 ของผู้เข้ารับการถ่ายทอด จากดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีการติดตามประเมินผลพบว่า มีผู้เข้ารับการถ่ายทอดจำนวน 176 คน ในการจัดจำนวน 7 ครั้งในพื้นที่และสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ ร้อยละ 90.6โดยมีผลตามวัตถุประสงค์ข้อต่างๆ ดังนี้ วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลกิจกรรมในเชิงประยุกต์ ผลการดำเนินงานพบว่าสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จำนวน 4 องค์ความรู้ และมีหัวข้ออื่นๆ เสริมเข้ามาตามความต้องการของพื้นที่ เช่น เรื่องการตลาดโค มีชีวิต การสร้างกลุ่มเกษตรกร และการสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชนจากองค์ความรู้ที่มีการถ่ายทอด
จากการสำรวจความสนใจในการใช้เทคโนโลยีพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 75 สนใจการใช้วัตถุดิบในพื้นที่มาผลิตอาหารสัตว์ร้อยละ 20 ต้องการ องค์ความรู้เรื่องปุ๋ยร้อยละ 5 ต้องการเรื่องการสกัดน้ำมันปาล์มแบบวิถีชาวบ้าน ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนการดำเนินการถ่ายทอด และหลักการถ่ายทอดพบว่าผู้เข้ารับการอบรมถ่ายทอดมีความพึงพอใจในหัวข้อการผลิตอาหารสัตว์มากที่สุด จากการประเมินผลตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอาชีพเสริมให้สามารถลดต้นทุนการประกอบอาชีพได้ พบว่ามีการใช้การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม และมีการลดต้นทุนผลิตอาหารสัตว์จากสวนปาล์มน้ำมันและผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์และผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาใช้ร่วมกัน ทำให้เพิ่มกิจกรรมที่หลากหลายตามการถ่ายทอด จากผลการดำเนินงานในถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารจากผลพลอยได้จากปาล์มน้ำมันในรูปอาหารผสมเสร็จ TMR และอาหารข้น รวมทั้งการแปรรูปอาหารหยาบโดยวิธีการหมักในการเลี้ยงโคเนื้อ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องอาหารหมักยีสต์ และจุลินทรีย์อื่นๆ เพื่อเป็นอาหารสัตว์กระเพาะเดี่ยว ถือเป็นกิจกรรมพัฒนาอาชีพเสริม เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากการสุ่มสำรวจเกษตรกรทั้งสามจังหวัดแบบเท่าเทียมกันพบว่ามากถึงร้อยละ 90.6 ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของความรู้ที่ได้รับ และมีการพัฒนาอาชีพเสริมขึ้นในพื้นที่ของตนเองในองค์ความรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์และผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มหลังการถ่ายทอดพบว่ามีการนำมูลโคมาหมักร่วมกับเศษอาหารสัตว์ วัชพืชและทะลายปาล์ม และใช้เถ้าจากโรงงานมาผสม เพื่อใช้ในสวนผลไม้และปาล์มน้ำมันซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด และจากการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางดำเนินกิจกรรมพบว่าเกษตรกรเข้าใจหลักการดีขึ้นทั้งหมดทุกคนร้อยละ 100 ของผู้เข้ารับการอบรม ทั้งนี้หลายคนยังขาดปัจจัยทรัพยากรในการดำเนินการแต่ก็มีความพยายามทำกิจกรรมตามศักยภาพของตนเองซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่ถือว่าแต่ละระดับ แต่ละฐานะต่างก็นำหลักการไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต
จากการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฏี และปฏิบัติ พบว่าเกษตรกรที่เข้ารับการถ่ายทอดร้อยละ 53.1 มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง สามารถคิดต่อยอดเองและแสดงความคิดเห็นในการประเมินองค์ความรู้ร่วมกัน รวมทั้งตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ในระหว่างการถ่ายทอด ร้อยละ 14.1 ยังสามารถไปทำหน้าที่วิทยากร เผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป และยังมีร้อยละ 7.8 ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไปได้ ตามวัตถุประสงค์เพื่อนำกิจกรรมที่มีคุณค่าทางการเกษตรกรรมมาสร้างความสงบสุขให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าเกษตรกรในนามประชาชนในพื้นที่ทราบความเชื่อมโยงนี้มากขึ้น จากการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้มองเห็นความสำคัญขององค์ความรู้หรือกิจกรรมเสริมที่ทำการถ่ายทอดว่ามีผลกับความสงบสุขของพื้นที่ โดยมองที่อาชีพ ความสุข และความพอเพียงตามรูปแบบกิจกรรม ผลสรุปการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของข้อเสนอโครงการมีผู้เข้ารับการถ่ายทอดเกินเป้าหมายที่มีในข้อเสนอ สำหรับผลลัพธ์ของโครงการนั้นพบว่าร้อยละ 90.6 ของผู้เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ และมีผลลดต้นทุน หรือเพิ่มรายได้ร้อยละ 65.6 จากการตั้งเป้าหมายไว้มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งการดำเนินโครงการมีผลบรรลุเป้าหมาย