โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูป ด้วยรูปแบบการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์เครื่องสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูป และถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้การสกัดน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปด้วยรูปแบบการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลงานวิจัยด้านการสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน โดยการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งภายในชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยได้ทำการขยายผลสู่การปฏิบัติด้วยรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์ในเขตพื้นที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 150 คน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ร่วมกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)
เทคโนโลยีเครื่องสกัดน้ำมันเปลือกมะม่วงหิมพานต์ ใช้หลักการบีบอัดแบบต่อเนื่องโดยอาศัยเกลียวอัด และส่วนประกอบที่สำคัญ คือ กระบอกอัด เกลียวอัดและช่องคายเศษ การประเมินผลเครื่องสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยใช้กระบอกอัดแบบเว้นร่อง ขนาด 3 มิลลิเมตร ความเร็วรอบเกลียวอัด 50 รอบ/นาที เมื่อป้อนเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์หลังการกะเทาะ ที่มีความชื้นในเปลือกเฉลี่ย 12.05% จำนวน 5 กิโลกรัม จะได้ความสามารถในการบีบอัดน้ำมัน CNSL และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน CNSL ที่บีบอัดได้เฉลี่ย อยู่ระหว่าง 11.84-12.47 กิโลกรัม/ชั่วโมง และ 22.08-22.80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนเปอร์เซ็นต์ความสะอาดของน้ำมัน CNSL ที่บีบอัดได้เฉลี่ย อยู่ระหว่าง 67.89-74.91 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนของน้ำมัน CNSL ที่เหลือในกาก มีค่าเฉลี่ย ระหว่าง 0.12-0.13 ผู้วิจัยเลือกใช้กระบอกอัดแบบเว้นร่อง ขนาด 3 มิลลิเมตร เนื่องจากผลจากการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องด้านต่าง ๆ สูงกว่าการใช้กระบอกแบบรูกลม ขนาด 4 มิลลิเมตร ด้านการบำรุงรักษาเครื่องสกัดฯ การใช้กระบอกอัดแบบเว้นร่อง สามารถดูแลรักษา ทำความสะอาดภายหลังการใช้งานเครื่องง่าย รวดเร็ว กว่าการใช้กระบอกอัดแบบรูกลม ซึ่งมีกากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ติดตามรูกลมของกระบอกอัด ทำให้การทำความสะอาดยาก และใช้ระยะเวลานาน
ผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้การสกัดน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปด้วยรูปแบบการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มเป้าหมาย พบว่ากลุ่มเกษตรกรผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีความพึงพอใจในด้านภาพรวมของการดำเนินโครงการ คือ ความพร้อมของทุก ๆ ฝ่ายในการดำเนินโครงการ มีความประทับใจในการเข้าร่วมโครงการ มีความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าร่วมโครงการ และมีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการ จากการประเมินความรู้ ความเข้าใจ ภายหลังการถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่า ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มี ความรู้/ความเข้าใจในขั้นตอนของการเตรียมเพื่อใช้งานเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.61 และมีความพึงพอใจประสิทธิภาพและการใช้งานของเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วง หิมพานต์ อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.70 แสดงให้เห็นว่าผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีความสนใจและยอมรับในการนำเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลจากการประเมินการยอมรับเทคโนโลยี อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.76