เป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คือการเพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นการสนองหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) ในพื้นที่ชนบทชายแดนไทยกัมพูชาคือตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่มันสำประหลัง สวนยางพารา และมีแรงงานนอกภาคเกษตรประกอบอาชีพเสริมด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่การพัฒนาสินค้าชุมชนประเภทผ้าไหมมัดหมี่ทอมือมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าจากลวดลาย สีสันและเนื้อผ้า โครงการนี้จึงได้นำองค์ความรู้จากโครงการวิจัยออกแบบผ้าไหมมัดหมี่ลายเครื่องแขวนไทยดอกไม้สด และโครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน กรณีศึกษา: ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อ 1) เพื่อสกัดองค์ความรู้เป็นคู่มือผลิตถ่ายทอดแก่แรงงานนอกภาคเกษตร 2) เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบ การผลิตผ้ามัดหมี่ทอมือและการตลาด และ 3) เพื่อวัดผลความสำเร็จของการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 20 คน และกลุ่มขยายผล จำนวน 20 คน ดำเนินกิจกรรมสังเคราะห์ผลจากงานวิจัยโดยจัดทำเป็นคู่มือแล้วจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ นำองค์ความรู้จากการอบรมไปสู่การปฏิบัติผลิตเป็นผืนผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จัดเวทีสรุปบทเรียนและจัดประชุมถ่ายทอดความรู้ขยายผลไปยังกลุ่มขยายผล และมีการติดตามการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง ผลการดำเนินโครงการทำให้ได้ผลผลิตเป็น 1) คู่มือการถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 500 เล่ม 2) ต้นแบบผ้าคลุมไหล่ไหมมัดหมี่ จำนวน 32 ผืน หลังการดำเนินโครงการมีข้อเสนอแนะว่า การส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตควรจำแนกกลุ่มผู้ผลิตตามศักยภาพ ต้องเน้นการติดตามการรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงควรเร่งหาแนวทางในการพัฒนาการตลาดมูลค่าสูงเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่เข้าสู่การสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาผ้ามัดหมี่ทอมือต่อไป