สมุนไพรของไทย เป็นสมบัติของชาติที่คนไทยได้ใช้ในการป้องกัน รักษาโรค และบำรุงร่างกายให้แข็งแรง สมุนไพรหลากหลายชนิดมีสารออกฤทธิ์เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ปัจจุบันสมุนไพรเป็นที่นิยม และใช้กันอย่างแพร่หลาย พืชสมุนไพรสามารถเติบโตได้ในดิน และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม จึงจะให้โอสถสารที่เป็นสารสำคัญสูง เป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชสมุนไพรเชิงพาณิชย์ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2574) โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์จัดการองค์ความรู้ดินที่เหมาะสมสำหรับผลิตพืชสมุนไพรเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ ดำเนินการด้วยการรับสมัครผู้เข้ารับการอบรม ให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมด้านการจัดการดิน การผลิตพืชสมุนไพร 8 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง กระชายดำ ขมิ้นชัน ไพล ว่านหางจระเข้ ผักโมโรเฮยะ บัวบก และตะไคร้หอม และการแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้น
ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และการจัดการดินเพื่อปลูกพืชสมุนไพร โดยโครงการนี้ได้จัดซื้อพันธุ์สมุนไพรจำนวนหนึ่ง เป็นแปลงสาธิตศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน และขยายพันธุ์ของพืชสมุนไพรเพื่อแจกจ่าย ขยายพื้นที่ปลูกภายในกลุ่ม มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้พืชสมุนไพรที่เก็บเกี่ยวแล้วมีคุณภาพดี ได้แก่ เครื่องอบ เครื่องชั่ง เครื่องบดสมุนไพร เตาไฟฟ้า และเครื่องสกัดสมุนไพร เพื่อใช้ในการแปรรูปเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชสมุนไพร
ผลการประเมินความรู้หลังการอบรม พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 67.00 ผ่านเกณฑ์ประเมินและมีความรู้ด้านการจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชสมุนไพรเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจในภาพรวมร้อยละ 93.25 ซึ่งเป็นระดับความพึงพอใจมากที่สุด ผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 100 จะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถจำหน่ายผลผลิตสมุนไพรทั้งสมุนไพรสด และสมุนไพรที่ผ่านการแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชนได้ ต่อไป