ปัจจุบันผู้ปลูกมะม่วงในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มักประสบปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของบริษัทส่งออกมะม่วงสดไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกในเขตภาคเหนือตอนล่างให้แก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดอื่นๆ จำนวน 260 คน ในหัวข้อเรื่องการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก โดยมีเนื้อหาในการบรรยาย ได้แก่ การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก การจัดการปุ๋ยและธาตุอาหารในดิน การจัดการโรคพืชในมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเบื้องต้น การป้องกันกำจัดแมลงในมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก การป้องกันกำจัดแมลงในผลมะม่วงเพื่อการส่งออกด้วยวิธีการอบไอน้ำและฉายรังสี การประยุกต์ใช้เทคนิค NIRs ในการตรวจสอบคุณภาพมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยไม่ทำลายตัวอย่าง การป้องกันกำจัดโรคมะม่วงเพื่อการส่งออก ขั้นตอนและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices: GAP) ของการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก การอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงนอกฤดูเพื่อการส่งออก”และ “การรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะม่วง” ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ การอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “การตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” และ “การเพิ่มมูลค่าหลังการเก็บเกี่ยว” ร่วมกับบริษัทส่งออกผลไม้ พร้อมจัดทำวีดีทัศน์ แผ่นพับ และคู่มือการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก แจกให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ จัดการศึกษาดูงานแก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจ จำนวน 46 คน ศึกษาดูงานในสภาพแปลงปลูกสวนคุณมนตรี ศรีนิล วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งออกมะม่วง ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ศึกษาดูงานบริษัทส่งออกมะม่วง ณ บริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด โรงอบไอน้ำ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ศึกษาดูงานขั้นตอนการส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศ ณ กรมวิชาการเกษตร ศึกษาดูงานการตรวจสารตกค้างในผักผลไม้เพื่อการส่งออก ณ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาดูงาน ณ ฝ่ายปฏิบัติการคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมอบรมต่อการดำเนินการจัดอบรมและการประเมินระดับความเข้าใจและความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ พบว่า ในด้านการดำเนินงานโดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมาก และการประเมินระดับความเข้าใจและความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ พบว่ามีระดับความเข้าใจและความสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในระดับมาก เช่นกัน