การจัดโครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลา มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้จากการวิจัยเกี่ยวกับการน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาซึ่งปกติจะถูกถ่ายเทออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมาผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการเป็นอาหารที่มีชีวิตของปลาน้ำจืดเกือบทุกชนิด โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในบ่อดิน ตำบลพันลาน ตำบลบางพระหลวง จังหวัดนครสวรรค์ และนักศึกษาสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาเป็นนักวิชาการจะได้นำความรู้ไปเผยแพร่ต่อไป การจัดการอบรมเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการแบ่งออกเป็น การอบรมความรู้ภาคทฤษฎีโดยใช้กระบวนการอบรมแบบ active learning เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมมีส่วนร่วมในการสะท้อนความรู้เกี่ยวกับลักษณะของไรน้ำนางฟ้าไทย วงจรชีวิต อาหารของไรน้ำนางฟ้าไทยที่อยู่ในน้ำทิ้ง การฟักไข่ การอนุบาลและการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทย การเก็บไข่ไรน้ำนางฟ้าไทย การคำนวณต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทย การอบรมภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้จากภาคทฤษฎีไปฝึกปฏิบัติตั้งแต่การฟักไข่ไรน้ำนางฟ้าไทย อนุบาลและเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาจนถึงอายุที่สามารถเก็บผลผลิตได้ จากนั้นคณะผู้วิจัยติดตามประเมินผลการเลี้ยงเพื่อสนับสนุนให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยเชิงพาณิชย์ได้ผลการประเมินโครงการพบว่า ผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและนักศึกษาเข้าร่วมร้อยละ 100 หลังจากอบรมภาคทฤษฎีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาตำบลพันลานมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 81.21 มีความรู้เกี่ยวกับการค้านวณต้นทุนการผลิตไรน้ำนางฟ้าด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 62.44 เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาต้าบลบางพระหลวงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 83.06 มีความรู้เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนการผลิตไรน้ำนางฟ้าด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 55.28 นักศึกษาสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 89.50 มีความรู้เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนการผลิตไรน้ำนางฟ้าด้วยน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาเฉลี่ยร้อยละ 82.50 การประเมินผลจากการปฏิบัติเกษตรกรตำบลพันลานสามารถฟักไข่ไรน้ำได้ร้อยละ 51.00 เกษตรกรตำบลบางพระหลวงสามารถฟักไข่ไรน้ำได้ร้อยละ 50.00 นักศึกษาสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์สามารถฟักไข่ไรน้ำได้ร้อยละ 65.00 มีเกษตรกรที่มีความสนใจ และมีศักยภาพในการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือในการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยเชิงพาณิชย์จำนวน 8 คน นักศึกษาสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ได้รับการสนับสนุนให้ผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยเชิงพาณิชย์จำนวน 2 คน จากผลการประเมินความสำเร็จของโครงการสามารถสรุปได้ว่าการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการสามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสามารถนำน้ำทิ้งของบ่อเลี้ยงปลามาใช้ประโยชน์ได้ หากเกษตรกรที่สนใจได้รับทุนสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือจะทำให้สามารถผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยเชิงพาณิชย์และจะเป็นตัวอย่างแก่ผู้สนใจรายอื่น