โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพระดับชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมระบบเกษตรปลอดภัย กรณีศึกษา ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อจัดทำระบบสาธิตและศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านการจัดการของเสีย และการใช้ประโยชน์จากกากของเสียของฟาร์มขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน และได้พลังงานทดแทน ในเบื้องต้นได้ใช้เทคโนโลยีการสร้าง ดูแลบำรุงรักษา ระบบก๊าซชีวภาพแบบถุงพีอีขนาด 8 ลบ.ม. และการผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สร้างความสามารถของบุคลากรในชุมชนเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ จากการสำรวจพื้นทีตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีฟาร์มทั้งสิ้น 402 ฟาร์ม มีจำนวนปศุสัตว์ ทั้งหมด 5,929 ตัว พบว่าฟาร์มที่มีพื้นที่ใหญ่สุดมีขนาด 10 ไร่ เล็กสุด 0.35 ไร่ และมีค่าเฉลี่ยพื้นที่ฟาร์ม 1.59 ไร่ ไม่มีการจัดการของเสียจำนวน 396 ฟาร์ม มีระบบบำบัดของเสียด้วยการใช้การหมัก และผลิตก๊าซชีวภาพ 6 ฟาร์ม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการติดตั้ง ดูแล และบำรุงรักษาบ่อก๊าซชีวภาพ มีการจัดอบรมทั้งสิ้น 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นจำนวน 270 คน โดยมีเนื้อหาในการถ่ายทอดเรื่องการเกิดก๊าซชีวภาพ การติดตั้ง ดูแล และบำรุงรักษาบ่อก๊าซชีวภาพ และการพัฒนา และฝึกอบรมช่างเทคนิคในการติดตั้ง ดูแล และบำรุงรักษาบ่อก๊าซชีวภาพ มีการจัดอบรมทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดยสามารถฝึกช่างในพื้นที่ได้ทั้งหมด 35 คน การเก็บข้อมูลการผลิตและการใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัด พบว่าระบบบำบัดมีประสิทธิภาพของระบบ เฉลี่ยที่ 62.87% ปริมาณก๊าซมีเทนต่อภาระสารอินทรีย์ที่ถูกกำจัดเฉลี่ยที่ 0.29 ลบ.ม.(มีเทน)/กก.ซีโอดีที่ถูกกำจัด (โดยทฤษฎีมีค่า 0.36 ลบ.ม.(มีเทน)/กก.ซีโอดีที่ถูกกำจัด) การการรับอินทรีย์สาร (Organic Loading Rate) มีค่า 1.38 กก.ซีโอดี/วัน/ลบ.ม. โดยมีระยะเวลากักเก็บน้ำ 40 วันสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้เฉลี่ยวันละ 1.9 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะสามารถทดแทน ก๊าซหุงต้มได้ 0.38 กก./ลม.ม.ก๊าซชีวภาพ หรือเทียบเท่าก๊าซหุงต้มที่ประหยัดได้ 0.723 กก./วัน คิดเป็นมูลค่าเทียบเท่าก๊าซหุงต้ม 16.84 บาท/วัน (ราคาก๊าซหุงต้ม 23 บาท/กก.) ทั้งนี้มีระยะเวลาในการ คืนทุนทั้งสิ้น 713 วัน (คิดเฉพาะค่าก๊าซหุงต้ม) แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้ประเมินคือผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ลดลงจากการลดการทิ้งของเสียสู่พื้นที่สาธารณะ