โครงการการต่อยอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เพื่อจะนำไปใช้ได้จริงโดยการขยายผลของศูนย์การเรียนรู้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และฝึกทักษะการสร้างประดิษฐ์อุปกรณ์/เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ให้กับชุมชนที่เหมาะสม และที่มีศักยภาพต่อการนำไปใช้ประโยชน์จริงในจังหวัดพะเยา ซึ่งมี 6 เทคโนโลยี ประกอบด้วย
- เทคโนโลยีการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
- เทคโนโลยีการทำน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
- เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการสูบน้ำ
- เทคโนโลยีเตาแกลบชีวมวล
- เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด
- เทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์
โดยเครื่องมือตัวหนึ่งที่ทางคณะผู้วิจัยนำมาใช้คือ หน่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ (Renewable Energy Mobile unit) ซึ่งเป็นเสมือนห้องแสดงนิทรรศการพลังงานทดแทน ซึ่งภายในห้องนิทรรศการเคลื่อนที่ นั้น ประกอบไปด้วยการบรรจุและติดตั้ง สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบชุดนิทรรศการและแบบจำลอง 6 เทคโนโลยีชุมชน จอภาพมอนิเตอร์, เครื่องขยายเสียง, คอมพิวเตอร์, สื่อการเรียนรู้ต่างๆ (เช่น แผ่นพับ), ไวนิล เป็นต้น เพื่อใช้ดำเนินการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับศูนย์หลักสมบูรณ์ และเดินสายถ่ายทอดให้ความรู้แก่ศูนย์ย่อยต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ยังได้ศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ให้เป็นศูนย์หลักที่มีความพร้อมและความเหมาะสมต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนสู่ชุมชน เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนและอย่างแพร่หลาย ในส่วนขั้นตอนดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ และการติดตามผลฯ ของแต่ละชุมชมที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ฯไป โดยทางคณะผู้วิจัยได้มีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาความพร้อม ศักยภาพ และความต้องการเทคโนโลยีฯของชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีความเหมาะสมในการขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์จริง ผลการดำเนินงานพบว่า เทคโนโลยีการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีเตาแกลบชีวมวล ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากแต่ละชุมชน มีการทำเกษตรกรรม จึงมีวัตถุดิบที่ต้องการจะอบแห้งในปริมาณสูง รวมไปถึงมีวัตถุดิบเชื้อเพลิง คือ แกลบอยู่แล้ว จึงได้นำเทคโนโลยีทั้ง 2 นี้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง