มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้ร่วมมือกับกองประเมินผล และจัดการความรู้การวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) ดำเนินการโครงการ “ส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยการผลิตก๊าชชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในชุมชนระดับครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเขตจังหวัดมหาสารคาม”ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 10 ชุมชน และมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 120 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิทยากรตัวคูณในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตก๊าชชีวภาพภายในชุมชนซึ่งวิทยากรตัวคูณดังกล่าวจะเป็นวิทยากรสำหรับชุมชนนั้นๆหรือชุมชนข้างเคียงเพื่อจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตก๊าชชีวภาพระดับครัวเรือนให้แก่สมาชิกในชุมชนหรือสำหรับผู้ที่สนใจในการสร้างระบบผลิตก๊าชชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน และเพื่อแปลงก๊าซชีวภาพที่ได้ไปเป็นพลังงานทดแทนสำหรับการหุงต้มในครัวเรือนทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ และเหมาะกับเกษตรกรรายย่อย คือ การทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพด้วยถุงพีวีซีและถุงพีอีขนาด 7-8 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะช่วยบำบัดของเสียจากฟาร์มแล้ว ยังได้ก๊าซมีเทนสำหรับหุงต้ม และได้กากที่ผ่านการย่อยสลายแล้วมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย ปรากฏว่า มีเกษตรกรรายย่อยที่ทำปศุสัตว์และมีสัตว์เลี้ยงในฟาร์มรายล่ะ 15-25 ตัว ให้ความสนใจและให้โครงการไปจัดฝึกอบรม พร้อมฝึกปฏิบัติ/สาธิตมีจำนวนดังนี้
กลุ่มเกษตรกรจำนวนผู้เข้าอบรมจำนวนบ่อก๊าซชีวภาพ(บ่อ)1*|
จุดสาธิต | เกษตรกรนำไปขยายผล |
1.ผู้ทำปศุสัตว์ขนาดกลาง | 16 | 8 | 6 |
2.ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์รายย่อย | 71 | 22 | 9 |
3.ผู้นำชุมชนใน | 33 | 11 | 7 |
รวม | 120 | 41 | 22 |
หลังการฝึกอบรม ทางโครงการได้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆพบว่า เกษตรกรทุกรายพอใจเป็นอย่างสูงกับประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากสามารถใช้ทดแทนการใช้ก๊าชหุงต้มในครัวเรือนได้ และมีเกษตรกรที่นำเทคโนโลยีนี้ไปขยายผลถึง 22 ราย เท่ากับทั้งโครงการจะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 340,200 บาท/ปี ซึ่งในจำนวนนี้เกษตรกรจำนวน 22 รายได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีเกษตรกรอีก 14 รายอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่และรอให้ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยผ่านพ้นช่วงเดือนเมษายนก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งนับว่าผลตอบแทนที่คุ่มค่าต่อการลงทุนมาก เพราะมีต้นทุนต่อการสร้างบ่อหมักก๊าซค่อนข้างต่ำเพียงบ่อล่ะ 2,880 บาท