ปัญหาสำคัญของระบบบริการทางการแพทย์ไทยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้คือ การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในพื้นที่ชนบท อันเนื่องมากจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ ณ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ปัจจุบันการให้บริการผู้ป่วยในชนบท จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ทั่วไป แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์ฝึกหัด หรือเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้มีการนำวิธีการปรึกษาทางไกลเข้ามาช่วยในการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งหากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในเขตชนบทหรือโรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พบปัญหาในการรักษาหรือมีข้อสงสัยที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยประสบการณ์ที่ไม่มากพอ จะใช้ระบบการปรึกษาผ่านโทรศัพท์ไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้วิธีการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันอาทิ แอปพลิเคชันไลน์ (Line Application) โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ที่จะทำการขอคำปรึกษาจะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทางได้เห็น เช่น ต้องทำการป้อนข้อมูลการรักษา ประวัติการได้รับยาของผู้ป่วย ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งการถ่ายรูปใบตรวจคนไข้ ให้กับแพทย์ปลายทางได้รับทราบข้อมูล โดยหากแพทย์ปลายทางมีข้อสงสัยหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม จะต้องทำการบอกกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ร้องขอคำปรึกษาให้ส่งข้อมูลมาให้ ถึงจะทำการให้คำปรึกษาได้อย่างครบถ้วน จะเห็นว่ากระบวนการปรึกษาดังกล่าว ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการปรึกษาทางไกลได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การบริการทางการแพทย์ได้อย่างครบถ้วย ด้วยประเด็นของการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่ยังเป็นข้อจำกัดในการให้บริการ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้นำเสนอเทคโนโลยีการปรึกษาทางการแพทย์ (Medical Consultation) รูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า NUMED ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทุกด้าน โดยผ่านอุปกรณ์หรือซอฟท์แวร์ที่เรียกว่า Agent ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ประกอบด้วย ประวัติข้อมูลการเข้ารักษา (OPD Screen) ประวัติการตรวจผลแลป (Labs) ประวัติของอาการผู้ป่วย (Diagnosis) ประวัติการได้รับยาของผู้ป่วย (Drugs) โดยจะสามารถเชื่อมโยงจากแหล่งข้อมูลต้นทางที่ผู้ป่วยเคยเข้ารักษาบริการแบบ Real Time กระบวนการเริ่มจากเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ที่ต้องการขอคำปรึกษาผ่านแอปพลิเคชัน NUMED จะทำการค้นหาข้อมูลของผู้ป่วยผ่านรหัสประจำตัวประชาชน 13 หลัก ระบบจะทำการค้นหาข้อมูลไปยังโรงพยาบาลหรือแหล่งข้อมูลต้นทาง (โรงพยาบาลที่ทำการติดตั้ง ซอฟท์แวร์ Agent) เมื่อโรงพยาบาลใดที่ผู้ป่วยเคยเข้ารักษาและมีข้อมูล ระบบจะส่งข้อมูลดังกล่าวมายังแอปพลิเคชัน NUMED แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สามารถดูข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ และหากต้องการที่จะปรึกษาไปยังแพทย์ จะมีเมนูให้เลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษาที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ในระบบ ลักษณะการทำงานเหมือนกับแอปพลิเคชันไลน์ แต่จะมีการแบ่งหัวข้อการปรึกษา และสามารถเลือกแนบข้อมูลของผู้ป่วยให้กับแพทย์ปลายทางได้เห็นโดยไม่ต้องทำการคีย์ข้อมูลหรือป้อนข้อมูลใหม่ เมื่อเลือกข้อมูลที่ต้องการปรึกษาจะสามารถเลือกหัวข้อการปรึกษา ที่ประกอบด้วย ปรึกษาด้านอาการของผู้ป่วย ปรึกษาด้านผลแลป ปรึกษาด้านการจ่ายยา และหัวข้ออื่นๆ อีกทั้งยังสามารถระบุความเร่งด่วนของการปรึกษาได้ซึ่งแบ่งเป็น ความเร่งด่วนแบบ OPD , IPD และ ER เมื่อแพทย์ปลายทางได้รับการแจ้งเตือนมีคำปรึกษาจะสามารถดูประวัติที่เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ผู้ร้องขอแนบมาได้ และยังสามารถกดดูประวัติทั้งหมดของผู้ป่วย ซึ่งจะดึงข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ขึ้นมาให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ ซึ่งหากระหว่างการปรึกษายังต้องมีประเด็กถามตอบ ระบบจะมีช่องทางการแชทเหมือนกับแอปพลิเคชันไลน์ แต่จะแยกออกเป็นเคสการปรึกษาพร้อมเก็บเป็นประวัติ ที่สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้ตลอดเวลา นอกจากระบบการปรึกษาผ่านข้อความในแอปพลิเคชันจะผูกกับเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์ หากต้องการปรึกษาแบบเร่งด่วนจะสามารถเลือกใช้ช่องทางการโทรผ่านเบอร์โทรศัพท์ หรือหากต้องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็สามารถเลือกใช้ช่องทางการ วิดีโอคอลผ่านระบบที่จะทำการติดต่อไปยังแพทย์โดยตรง เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการปรึกษาระบบจะทำการเก็บเป็นประวัติ และยังเก็บเป็นภาระงานของเจ้าหน้าที่ โดยสามารถดูย้อนหลังว่าได้ทำการปรึกษา หรือรักษาผู้ป่วยไปแล้วกี่เคส หรือในกรณีที่เป็นการรักษาผู้ป่วยคนเดิมระบบจะดึงข้อมูลประวัติการปรึกษาเก่าขึ้นมา เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่และแพทย์สามารถดูข้อมูลเพื่อให้การวินิจฉัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงมีความประสงค์จะขยายผลเทคโนโลยีระบบการปรึกษาทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน NUMED ดังกล่าว เพื่อช่วยให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขไทย มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เสมือนกับการเดินทางมาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเหล่านั้นก็จะสามารถลดขีดจำกัดในการรักษา และเพิ่มองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความมั่นใจในการรักษาผู้ป่วย อันจะส่งผลให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขไทยก้าวข้ามไปสู่การบริการที่มีประสิทธิภาพ และมั่นคง