การพัฒนาและนำรูปแบบการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตแบบบูรณาการระดับพื้นที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้/เทคโนโลยี 4 เล่มสู่การปฏิบัติและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) กลุ่มเสี่ยงและญาติ/สมาชิกในครอบครัว 2) กลุ่มแกนนำชุมชนและหน่วยงานในชุมชน 3) ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด และ 4) กลุ่มระบบบริการสุขภาพ โดยนำร่องใน “โรงพยาบาลสามสหาย” คือ จังหวัดอำนาจเจริญ มุกดาหารและยโสธร โดยมีนำรูปแบบไปใช้ 5 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาบริบทพื้นที่ 2) หลักการ/เป้าหมายและองค์ประกอบ 3) แนวทางการนำรูปแบบไปใช้ 4) การประเมินผล และ 5) การพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบ อีกทั้งนำ “6 เสาหลักของระบบสุขภาพ” หรือ six building block มาอธิบายองค์ประกอบการพัฒนาระบบสุขภาพ นอกจากนั้น ใช้กรอบ Logic model สำหรับติดตามและสังเคราะห์บทเรียน ภายหลังการวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่ละจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานแกนหลัก (core team) ร่วมปรับปรุงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้ง 4 เล่ม รวมทั้งระดมสมองการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตแบบบูรณาการ และจัดทำแผนปฏิบัติงาน (action plan) นำไปดำเนินการในพื้นที่ตำบลนำร่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน ได้แก่ ตำบลนาผือ จังหหวัดอำนาจเจริญ ตำบลเติด จังหวัดยโสธร และตำบลดงเย็น จังหวัดมุกดาหาร จากการสังเคราะห์รูปแบบการจัดบริการตามองค์ประกอบการพัฒนาสุขภาพและติดตามผลลัพธ์ พบว่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้ง 4 เล่ม เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดระบบบริการการแพทย์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตที่มีการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ค่อนข้างดี ถือเป็น “นวัตกรรมเชิงระบบ (system innovation)” ผลผลิตจากการดำเนินงานทำให้ญาติหรือคนใกล้ชิดเกิดระบบที่ส่งเสริมศักยภาพในการดูแลตนเองให้ได้รับการดูแลเชิงป้องกันตั้งแต่ในครอบครัว มีระบบการจัดการตนเองด้านผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตของชุมชน เมื่อมีผู้ป่วยคลุ้มคลั่งอาละวาด ได้รับบริการของระบบการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ป่วยฯ ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลที่รวดเร็วแบบไร้รอยต่อเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามแนวทางของระบบบริการที่วางไว้นั้น พบช่องว่างที่ต้องเติมเต็มการพัฒนาทั้งบทบาทและการสร้างสมดุลการบริหารจัดการของ core team ระบบการจัดบริการที่ต้องสร้างโดยการก่อตัวของชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย core team ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยง (Coaching)/ผู้สนับสนุน (facilitator) การถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ ทั้ง 4 เล่ม ต้องทำให้เกิดความเข้าใจอย่างละเอียดถึงหลักการและแนวทางปฏิบัติ ต้องจัดการระบบให้เกิดความเป็นเจ้าของกระบวนการ (process owners) ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้านข้อมูลสารสนเทศ ต้องเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ การสนับสนุนงบประมาณให้พื้นที่เป็นเพียงจุดกระตุ้นที่เริ่มกระบวนการได้ง่าย แต่ทั้งนี้ต้องมีการจัดการเชิงระบบ มีการวางเป้าหมายของการดำเนินงานร่วมกัน และมีระบบจัดการรายจ่ายอย่างมีธรรมาภิบาล ที่สำคัญทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีภาวะผู้นำและผู้ตามที่ดี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อเสนอแนะขององค์ประกอบของระบบบริการสุขภาพ “6 เสาหลักของระบบสุขภาพ” ไปขยายผลจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตในวงกว้างต่อไป