ในภาวะขาดสารอาหารพบว่าภาวะขาดวิตามินมีแนวโน้มที่สูงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหลากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องของความรู้ความเข้าใจในสารอาหารที่ควรได้รับในผู้สูงอายุ และการเข้าถึงสารอาหารต่างๆ ทำให้พบว่า 10-15% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีภาวะขาดวิตามินบี 12 และ 14-38% มีภาวะขาดวิตามินบี 9 ซึ่งการขาดวิตามินบี 9 และบี12 นี้มีผลทำให้มีระดับของ homocysteine ที่สูงมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ นอกจากนี้การขาดวิตามินบี 9 ยังพบว่ามีผลต่อระบบประสาทอีกด้วย ดังนั้นการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจต่อการป้องกันโรคด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจต่อการขาดวิตามินบี 9 และ 12 จะช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นและตระหนักถึงความสำคัญที่จะก่อโรคในผู้สูงอายุที่ขาดวิตามินเหล่านี้
จากองค์ความรู้ของผู้วิจัยและคณะพบว่าการเสริมวิตามินบี 9 และบี 12 ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถลดระดับ homocysteine ได้อย่างมีนัยสำคัญและยังสามารถเปลี่ยนแปลงระบบอิพิจีโนมของเซลล์เม็ดเลือดขาว นำไปสู่การยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวของกับภาวะ dementia และลดอายุทางชีวภาพของผู้สูงอายุได้อีกด้วย ดังนั้นการเสริมสร้างเกราะป้องกันต่อโรคให้ผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นที่ควรได้รับการสนับสนุนเป็นนโยบายสาธารณะ เนื่องจากในปัจจุบันสังคมผู้สูงวัยมีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งในประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 และกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ.2021 และในปี 2023 มีผู้สูงอายุคิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทย ดังนั้นค่าใช้จ่ายในเชิงสาธารณะสุขจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นและเพิ่มมากขึ้นหากผู้สูงอายุมีโรค ดังนั้นเพื่อให้สังคมสูงวัยมีทั้งสุขภาพและสุขภาวะที่ดี จึงจำเป็นที่ต้องมีการส่งเสริมการใช้วิตามินบี 9 และบี 12 ในผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถป้องกันโรคหรือเพื่อเพิ่มพูนระดับวิตามินนี้ในร่างกาย ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ของการเสริมวิตามินบี 9 และบี 12 ในผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะโดยเริ่มจากระดับโรงพยาบาล ซึ่งในโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากคลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช, สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหารคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาบูรพา และสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย โดยทางคณะผู้วิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ของการใช้วิตามินบี 9 และบี 12 ในรูปแบบ infographic พร้อมทั้งให้ความรู้แบบกลุ่ม รวมถึงทดสอบองค์ความรู้ในกลุ่มชุมชนบางกอกน้อยเพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบขององค์ความรู้นี้เพื่อนำไปสู่การขยายต่อชุมชนอื่นๆและนำไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะในระดับโรงพยาบาลหรือระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง