ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีประชากรมากกว่าร้อยละ 30 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จำนวนผู้มีงานทำ 39.91 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมถึง 11.74 ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, 2566) และในการทำการเกษตรผลพลอยได้ที่สำคัญนอกเหนือจากผลผลิตการเกษตร คือ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือที่เรียกว่า ชีวมวล (Biomass) เช่น ฟางข้าว หญ้า กากอ้อย ลำต้นและซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม รวมถึง เศษกิ่งไม้ใบไม้ตามเรือกสวนไร่นา ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานตามธรรมชาติแหล่งใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงานได้ แต่ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่นำไปเผาทิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดอุปกรณ์ในการนำชีวมวลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยชีวมวลเหล่านี้ สามารถถูกแปลงเป็นแก็ส (syngas) ใช้แทนแก๊สหุงต้มในครัวเรือน และได้ถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (biochar) ที่มีคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและองค์ประกอบทางเคมีที่ช่วยในการปรับโครงสร้างดินให้เอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ดิน เช่น จุลินทรีย์ และไส้เดือน และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นพืชได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การลดการเผาชีวมวลกลางแจ้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และลดโลกร้อน จากการที่คณะผู้วิจัย ได้เรียนรู้และเข้าร่วมอบรมกับท่าน รศ.ดร.อรสา สุกสว่าง ในเรื่องการแปลงชีวมวลเป็นพลังงานสำหรับเป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือนและได้ไบโอชาร์สำหรับปรับปรุงดิน และจากการทดลองนำไปปฏิบัติจริง และทำการศึกษาเพิ่มเติม (Sajee Noitang, et al. 2020; Sajee Noitang, et al. 2022) พบว่า การแปลงชีวมวลเป็นพลังงานและไบโอชาร์เป็นแนวทางที่เกษตรกรสามารถทำได้ง่าย และเกิดผลประโยชน์หลายด้านกับเกษตรกร คือ ลดการซื้อแก๊สหุงต้ม เนื่องจากสามารถเปลี่ยนชีวมวลเสื่อมมาเป็นแก็สหุงต้มได้ด้วยเตาเบ๊บซี BEBC (อรสา สุกสว่าง, 2560) ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เนื่องจากการใช้ไบโอชาร์ในแปลงปลูก ไบโอชาร์มีรูพรุน และมีความสามารถในการจับธาตุที่มีประจุบวก (cation exchange capacity; CEC) ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม (N/P/K) และค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาให้พืชใช้งาน และลดการใช้ยาฆ่าแมลงศัตรูพืช เนื่องจากในไบโอชาร์ยังคงมีกลิ่นน้ำส้มควันไม้คอยช่วยไล่แมลงศัตรพืชได้ นอกจากนี้ ไบโอชาร์ยังช่วยจับธาตุโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในดินไว้ทำให้ผลผลิตพืชผักที่ได้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ นอกจากนี้ ทางคณะวิจัยเคยได้ร่วมจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร มาแล้วเมื่อวันที่ 23 ธค 2565 โดยพื้นที่ใยบริเวณนี้ เป็นชุมชนชานเมืองที่ยังมีการปลูกข้าว ทำนาแปลงใหญ่ และมีเกษตรกรที่สนใจ มีแกนนำชุมชนเข้มแข็ง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังที่ไม่มีความรู้ในการแปลงชีวมวลเป็นพลังงาน และยังมีการเผาชีวมวลกลางแจ้ง ทางคณะวิจัย จึงได้จัดทำโครงการวิจัยนี้เพื่อพัฒนาให้ชุมชนชานเมือง ในแขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง เป็นศูนย์กลาง “ชุมชนพลังงานสีเขียว” ของเขตลาดกระบัง โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้ ขั้นตอนที่ หนึ่ง คณะผู้วิจัย ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรพื้นที่ พบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน สำรวจชีวมวลในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน พร้อมประชาสัมพันธ์ก่อนการอบรม ขั้นตอนที่ สอง ถ่ายทอดความรู้โดยการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้คนในชุมชนและผู้สนใจ และผู้เข้าร่วมอบรมที่มีความประสงค์จะใช้แก็สที่ได้จากเตาเบ๊บซีเป็นพลังงานทดแทนแก็ส LPG และนำไบโอชาร์ไปปรับปรุงดิน และยินดีบันทึกและส่งผลการใช้เตาเบ๊บซีและการนำไบโอชาร์ไปปรับปรุงดิน จะได้ร่วมโครงการและรับเตาเบ๊บซีนำไปใช้ในครัวเรือน ขั้นตอนที่ สาม การติดตามผล โดยมีการส่งข้อมูล รูปภาพผ่านใน ไลน์กลุ่ม (group line) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง จดบันทึกข้อมูลปริมาณการแปลงชีวมวลเป็นพลังงานและถ่านชีวภาพของครัวเรือน หลังจากรับเตาไปใช้เป็นเวลา 1 ถึง 4 เดือน ขั้นตอนที่ สี่ ประเมินระดับการยอมรับ การแปลงชีวมวลเป็นแก๊สหุงต้ม และบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน และ/หรือ ผลผลิตทางการเกษตรหลังการปรับปรุงดินด้วยไบโอชาร์ ขั้นตอนที่ ห้า คณะผู้วิจัยร่วมประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่ คือ สำนักงานเกษตรพื้นที่ 2 กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยกันประเมินและพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป