โครงการ การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพาราแบบวนเกษตรตำบลทุ่งใหญ่เพื่อสร้างเสริมการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตรในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตรให้แก่เครือข่ายฯ รวมถึงพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจ และสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายฯ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำสวนฯ ให้กับเกษตรกรในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ได้ โดยแบ่งวิธีการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร โดยใช้แผนภาพ เรื่อง “ประโยชน์ของสวนยางพาราแบบวนเกษตร” เป็นสื่อในการสร้างการเรียนรู้ พร้อมทั้งเชิญเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเกษตรกรเครือข่ายฯ ซึ่งดำเนินการใน 2 กิจกรรม คือกิจกรรมการให้ความรู้เรื่อง “รูปแบบและประโยชน์ของสวนยางพาราแบบวนเกษตร” จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2558 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพาราแบบวนเกษตรตำบลทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งงาย ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 23 คน และครั้งที่ 2 จัดเมื่อวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์บ้านนายด่าน หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 23 คน และกิจกรรมการเสวนา เรื่อง “การสร้างความหลากหลายในสวนยางพาราแบบวนเกษตร” จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558 ณ อาคารเอนกประสงค์บ้านนายด่าน หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 30 คน
การพัฒนาศักยภาพ และความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ ในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจ โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นสื่อกลาง ซึ่งดำเนินการใน 5 กิจกรรม ดังนี้
- กิจกรรมการประชุมติดตามผลการดำเนินงานระดับหมู่บ้านเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมด 6 ครั้งต่อเดือน (จำนวน 6 หมู่บ้าน) โดยจัดขึ้นทุกเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม – ตุลาคม 2558 รวม 48 ครั้ง เวลา 14.00 – 17.00 ณ จุดรวมตัวของเกษตรกรเครือข่ายฯ แต่ละหมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ครั้งละประมาณ 10 -17 คน
- กิจกรรมปลูกต้นไม้ในสวนยางพารา จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2558 เวลา 09.00 – 12.15 น. ณ สวนยางพาราของนายสมิทธิ รักภาระ ซึ่งตั้งอยู่บนเขาคอหงส์ โดยมีเกษตรกรเครือข่ายฯ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ คณะครูอาจารย์จากโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมจำนวน 80 คน
- กิจกรรมการจัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานระดับตำบล โดยจัดขึ้นทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม – ตุลาคม 2558 รวม 8 ครั้ง เวลา 14.00 – 17.00 ณ จุดรวมตัวของเกษตรกรเครือข่ายฯ ทั้ง 6 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ครั้งละประมาณ 13 -18 คน
- กิจกรรมการศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างและพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเองที่ยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 และวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2558 เวลา 08.00 – 18.00 น. และ 07.30 – 18.00 น. ตามลำดับ ณ เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 50 คน
- กิจกรรมการฝึกอบรมทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 28 และวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2558 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 29 คน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 10 และวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ อาคาร กศน. ตำบลทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3 บ้านนายด่าน ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 30 คน
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้เกษตรกรเครือข่ายฯ กล้าพูด กล้าแสดงความคิด และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเครือข่ายฯ ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยให้เกษตรกรเครือข่ายฯ มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจได้ เนื่องจากในความเป็นจริงเกษตรกรเครือข่ายฯ ทุกคนมีการพัฒนาความรู้ในการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตรอย่างต่อเนื่องจากการเข้าร่วมอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และจากประสบการณ์ของตนเอง จนกลายเป็นความรู้เฉพาะของตนเอง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ เนื่องจากไม่กล้าพูด ไม่รู้จะเริ่มต้นพูดอย่างไร และไม่มั่นใจในตัวเอง การทำให้เกษตรกรเครือข่ายฯ เห็นศักยภาพของตัวเองนั้น เป็นการช่วยให้เกษตรกรเครือข่ายฯ ก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง และสามารถนำความรู้ที่มีไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมได้
การศึกษาผลลัพธ์ของการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ พบว่า ทำให้เกษตรกรเครือข่ายฯ มองเห็นเป้าหมายร่วม ประโยชน์ ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร รวมทั้งการปรับปรุงกิจกรรมให้การดำเนินงานของเครือข่ายฯ มีโอกาสที่จะเกิดความยั่งยืนในอนาคต ในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน คณะผู้วิจัยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายฯ ส่งผลให้เกษตรกรเครือข่ายฯ เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมที่จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร ให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ที่สนใจต่อไป ความรู้ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการฯ จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานต่างๆ ที่เก