การดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน ด้วยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในเขตจังหวัดกำแพงเพชร” มีวัตถุประสงค์
- เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน ด้วยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในเขตจังหวัดกำแพงเพชร
- เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการต่อยอดและการขยายผลสู่การปฏิบัติจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- เพื่อการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน ด้วยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในเขตจังหวัดกำแพงเพชร มีวิธีการดำเนินการโดยการลงพื้นที่เพื่อจัดเวทีประชาคมโดยการสังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม และการสอบถาม ความคิดเห็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ เกษตรกร ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชนท้องถิ่นในเขตจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 11 อำเภอ อำเภอละ 1 แห่ง กำหนดจำนวนของกลุ่มตัวอย่างอำเภอละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 440 คน โดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ วิธีการลงภาคสนามเพื่อสังเกตการณ์ วิธีการสัมภาษณ์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ และแบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการดำเนินการมีดังนี้
- สภาพการปลูกพืชไร่ของเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่ปลูกข้าว มันสำปะหลังและอ้อย การทำเกษตรอินทรีย์ยังมีน้อย เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีในการทำเกษตรอยู่จำนวนมาก ขาดความรู้ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมี และขาดความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กับการเกษตร
- การอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่า คะแนนของผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการอบรมสูงกว่าคะแนนก่อนการอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่า ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีความรู้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับการอบรม
- การศึกษาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการอบรมไปขยายผลสู่การปฏิบัติ พบว่า กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผักไฮโดรโปรนิกส์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตรจากการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากขยะอินทรีย์ ลดการใช้ไฟฟ้าในการทำเกษตรโดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( =4.39)
- การจัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ทั้ง 11 อำเภอ พบว่า เกิดการเผยแพร่ผลการดำเนินงานที่สามารถขยายผลไปสู่การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง