โครงการ “การใช้หัวเชื้อราเอ็กโทไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกไม้ป่าวงศ์ไม้ยาง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัย “การจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ” ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัย และนวัตกรรม ประจำปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ราเอ็กโทไมคอร์ไรซาสู่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน เกษตรกร ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับราเอ็กโทไมคอร์ไรซา และความสัมพันธ์ของรากับต้นไม้ การคัดเลือกราเอ็กโทไมคอร์ไรซา และพรรณไม้วงศ์ไม้ยางประจำถิ่นของไทย การผลิตหัวเชื้อราไมคอร์ไรซาเพื่อใส่ให้กับกล้าไม้ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเรียนรู้ทักษะการปลูกไม้ป่าประจำถิ่นวงศ์ไม้ยาง โดยใช้หัวเชื้อราเอ็กโทไมคอร์ไรซาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกไม้ป่าประจำถิ่น ผ่านการอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการ ที่จัดขึ้นจำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และน่าน มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวนทั้งสิ้น 337 คน ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน บุคลากรในสถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 45.74 มีอาชีพเกษตรกรมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 32.98 ผู้เข้ารับการอบรมไม่มีความรู้เกี่ยวกับราเอ็กโทไมคอร์ไรซามาก่อน หลังจากได้รับการอบรมพบว่าผู้เข้าร่วมการอบรมมีผลคะแนนความรู้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.28 ผู้เข้าร่วมการอบรมมีความพึงพอใจต่อเนื้อหาและวิทยากรด้านต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 81.21-92.49 ความพึงพอใจต่อกิจกรรมภาคปฏิบัติคิดเป็นร้อยละ 78.84-91.15 ความพึงพอใจด้านการลงทะเบียน/ระยะเวลา/สถานที่/การประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 81.26-87.10 และความพึงพอใจต่อประโยชน์ที่ผู้อบรมได้รับคิดเป็นร้อยละ 84.89-90.23 จากการติดตามประเมินผลโครงการหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการอบรมพบว่า ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถผลิต และใส่หัวเชื้อราไมคอร์ไรซาให้แก่กล้าไม้ได้ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล และถ่ายทอดสู่บุคคลอื่น ๆ ในชุมชน รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมการอบรมได้เป็นอย่างดี ผลความสำเร็จของโครงการจัดกิจกรรมการอบรมนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้การปลูกป่าทดแทน โดยใช้ไม้วงศ์ไม้ยางประจำถิ่นของไทยประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป