พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ทั้งหมด 6,451,178.125 ไร่ แบ่งออกเป็น 1) พื้นที่ถือครองทำการเกษตร 3,873,378 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ทำนา 3,173,450 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชไร่ 456,256 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชผัก 9,624 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น 89,171 ไร่ ที่ปศุสัตว์ 4,199 ไร่ 2) ที่รกร้างว่างเปล่า 64,244 ไร่ 3) พื้นที่ป่าไม้ 331,250 ไร่ 4) พื้นที่อื่นๆรวม 2,248,268 ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์,2560) มีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 2.46 ของพื้นที่ทั้งหมด นั่นหมายความว่าพื้นที่ร้อยละ 97.54 ของจังหวัดบุรีรัมย์อยู่นอกเขตชลประทาน (ชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์,2559) ดังนั้นประชาชนชาวบุรีรัมย์จึงต้องหันมาพึ่งตนเอง 5 ด้านคือ 1.กระบวนการจัดเก็บข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ รูปแบบการใช้น้ำตามแบบแผนดังเดิมนี้ไว้อย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือถ่ายทอดไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง 2.ด้านการจัดหาน้ำต้นทุนโดยเน้นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ด้วยการอนุรักษ์ป่า และฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 3.ด้านการจัดการความต้องการของกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยการปรับลดความต้องการใช้น้ำลงด้วยการปรับรูปแบบการผลิตพืชเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และ 4.ด้านการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ละตำบลโดยเน้นเรื่องการวางระบบบริหารจัดการน้ำร่วมกัน 5.การบริหารจัดการพื้นที่ผ่านกระบวนการจัดตั้งองค์กรน้ำบริหารจัดการน้ำ เพื่อเสริมศักยภาพเกษตรกรผู้ใช้น้ำรองรับการบริหารจัดการน้ำของตำบลที่พัฒนาระบบและแบบแผนการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาใหม่
จากช่องว่างที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ไม่ทั่วถึงจึงทำให้มหาวิทยาลัยจึงต้องเร่งดำเนินการหาทางเข้าไปหนุนเสริมการทำงานภาคประชาชนที่ดำเนินการอยู่แล้วทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีฐานรายได้หลักมาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนนอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกิดกลุ่มบริหารจัดการน้ำที่มีความเข้มแข็งสามารถวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำของตนเองได้ และสามารถบริหารจัดการน้ำให้สามารถรองรับการใช้งานได้ตลอดทั้งปีโดยไม่เดือดร้อน