วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้เพื่อสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม (UBRU TESTKIT) และระบบประเมินผลคุณภาพน้ำ (UBRUWQM.ORG) สู่การใช้ประโยชน์ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแหล่งน้ำสะอาดให้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ต้นแบบอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ผลการประเมินความสามารถในการดูดซับองค์ความรู้ของเทคโนโลยี โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้งานระบบบันทึกผลและประมวลผลคุณภาพน้ำ (UBRUWQM.ORG) ช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมีตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐและตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน ผลการศึกษาพบตัวแทนจากภาครัฐและกลุ่มชาวบ้านสามารถเข้าใจและสามารถใช้งานระบบบันทึกผลได้ประมาณ 2 - 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของการฝึกอบรมที่กำหนดเกณฑ์การผ่านการประเมินไว้ที่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการทำการปรับปรุงระบบประมวลผลคุณภาพน้ำแล้วเสร็จในช่วงเดือน มกราคม 2565 และทำการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มตัวอย่างเดิมและประเมินความสามารถในการเข้าใจและสามารถใช้งานระบบบันทึกผลได้ประมาณ 85 - 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเกณฑ์การผ่านการประเมินไว้ที่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ผลการประเมินระดับของการเข้าถึงเทคโนโลยีการใช้งานระบบบันทึกผลและประมวลผลคุณภาพน้ำ (UBRUWQM.ORG) พบตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีเวลาที่สามารถเข้าใจและใช้งานระบบประเมินผล (ระยะเวลาเฉลี่ย 30 ถึง 60 นาที) ได้เร็วกว่าตัวแทนภาคประชาชน (ระยะเวลาเฉลี่ย 45 ถึงไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้) จึงได้กำหนดกลุ่มให้ตัวแทนจากภาครัฐเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงการใช้งานระบบบันทึกผลและประมวลผลในแต่พื้นที่ และภาคประชาชนจะมีระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีในการประเมินภาพรวมของคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านในแต่ละพื้นที่ในรูปแบบของสัญลักษณ์และสีต่างๆ
ผลการประเมินความสามารถในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่จากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสามารถดูดซับองค์ความรู้และไปถ่ายทอดให้กับผู้ปฏิบัติงานส่วนงานต่างๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง และถ่ายทอดการใช้งานในระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบภาพรวมของคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านในแต่ละพื้นที่ให้กับ ภาคประชาชน และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) สู่การนำข้อมูลคุณภาพน้ำที่ได้จากระบบประเมินผลมาเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านอย่างมีส่วนร่วม
ผลการนำส่งองค์ความรู้มีการนำส่งบทสรุป แนวทางการใช้ประโยชน์และความเป็นไปได้ในการขยายผลในวงกว้างให้กับหน่วยงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับจังหวัด และการขยายผลองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้กับหน่วยงานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี