โครงการนี้มุ่งเน้นใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในประเทศไทย เพื่อขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ควบคู่ไปกับการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ ดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามแนวทางนวัตวิถีและแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมโมเดิร์น (2) ใช้มุมมองด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นกรอบในการสำรวจ ถอดความรู้ ยืนยันคุณค่า ถ่ายทอด และนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม (3) พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศดิจิตัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนวัตวิถีและแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมโมเดิร์น และ (4) ส่งเสริมภาคีเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของไทยจากกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินงานในระหว่างวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564
การดำเนินงานใช้วิธีการแบบผสมผสาน มีการบูรณาการองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ กับเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวนวัตวิถี เข้าด้วยกัน เพื่อระบุแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมในพื้นที่เป้าหมายตามแนวทางการมีส่วนร่วม การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชนและสร้างกระบวนการยืนยันคุณค่าร่วมกับองค์กรระดับสากล มีการสืบค้นและพัฒนาฐานข้อมูลแหล่งมรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นภายใต้ความร่วมมือจากผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลแหล่งมรดกฯ และพัฒนา “โมบายไซต์บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน” เป็นเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากสาธารชนในการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลบนเครือข่ายออนไลน์ โดยมีการประเมินคุณค่าแหล่งมรดกฯตามข้อกำหนดขององค์กรการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นสากล (DOCOMOMO International)
ผลการดำเนินงาน สามารถพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศดิจิทัลสำหรับใช้นำร่องกระบวนการถ่ายทอดคุณค่ามรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวทางนวัตวิถี ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเรียนรู้คุณค่าแหล่งมรดกฯข้างต้นได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงเกิดกลไกขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของไทย โดยสามารถระบุแหล่งมรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นสำหรับใช้นำร่องในพื้นที่เป้าหมายได้จำนวน 18 แห่ง ภายใต้กระบวนการซึ่งเป็นที่ยอมรับจากองค์กรระดับสากล และมีการเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งมรดกฯข้างต้นกับฐานข้อมูลของ DOCOMOMO International นำไปสู่ข้อสรุปว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลเป็นเครื่องมือนำเสนอคุณค่ามรดกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตอีอีซี สามารถสร้างกลไกการมีส่วนร่วมและการปฏิสัมพันธ์จากสาธารณชนในวงกว้างบนเครือข่ายออนไลน์ เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ