การทำการเกษตรในอดีต เกษตรกรมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาดโดยการใส่ปุ๋ยเคมีจำนวนมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมีผลกระทบต่อคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสิ่งแวดล้อม ถ่านชีวภาพ (biochar) ในประเทศไทยนำมาใช้เพื่อการหุงต้ม แต่ถูกนำมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินน้อยมาก การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตถ่าน และถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในครัวเรือนและไร่นา 2) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับใช้ถ่าน และถ่านชีวภาพเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และผลผลิตของพืชอย่างยั่งยืน และ 3) เพื่อขยายผล และสร้างเครือข่ายเกษตรกร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำการเกษตรจากบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน โดยขยายผลจากพื้นที่จังหวัดนครพนมสู่พื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดสนุกที่มีนโยบายผลักดันการทำการเกษตรอินทรีย์ โดยให้ความรู้ด้านการผลิตและการใช้เตาเผาถ่านเพื่อใช้ครัวเรือน ทั้งเตาเผาถ่านชีวภาพ และเตาชีวมวล การให้ความรู้ด้านคุณภาพของสารอินทรีย์ การผลิตเตาเผาแกลบอย่างง่าย การตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างง่ายคุณสมบัติของถ่านชีวภาพ และการใช้ถ่านชีวภาพเพื่อใช้ในการปรับปรุงดิน และเพิ่มผลผลิตพืช มีผู้สนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งหมด 121 คน โดยสานต่อเครือข่าย “คนเอาถ่าน NPU” ใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามการนำไปใช้ประโยชน์ มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง จำนวน 91 คน (ร้อยละ 75.21) และอีก 30 คน (ร้อยละ 24.79) ที่ยังไม่ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากยังไม่มีเวลาในการนำไปใช้ประโยชน์ ผู้ที่นำความรู้ไปใช้ประโยชน์นั้นช่วยเพิ่มรายได้เสริมมากกว่ารายได้หลัก (ร้อยละ 100) นอกจากนี้ยังนำความรู้ไปลดรายจ่ายน้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 75.21) และอยู่ระหว่าง 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 66) จำนวนผู้อบรมที่ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ 91 คน นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทันที ร้อยละ 12.09 แต่พบว่า ผู้เข้าร่วมการอบรมได้นำความรู้ไปใช้หลังการฝึกอบรมภายใน 1 เดือน มากที่สุด ร้อยละ 86.81 โดยส่วนมากนำไปใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ไปขยายผลต่อในด้านให้บริการ/คำปรึกษา ทั้งหมด (ร้อยละ 100)
โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำให้เกิดนักถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นจำนวนมากซึ่งไม่ต่ำกว่า 50 คน ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจได้ ซึ่งในระหว่างการดำเนินโครงการได้ให้ผู้ผ่านการอบรมจากจังหวัดนครพนมได้นำความรู้มาร่วมถ่ายทอดด้วย เมื่อเกิดเครือข่ายระหว่างนักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานเอกชน และเกษตรกร ทำให้จะเกิดการขยายผลไปยังกลุ่มอื่น ๆ ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้รับความสนใจจำนวนมาก ดังนั้นควรมีการขยายพื้นที่ไปยังชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มสนุกเช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และมีการนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วย