มะปรางเป็นไม้ผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และมีศักยภาพสูงในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ มะปรางเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานมาก โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ นครนายก อ่างทอง ปราจีนบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นต้น พื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศ ประมาณ 17,421 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 14,162 ตัน ทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศไทยมีสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมจึงทำให้สามารถผลิตมะปรางได้เป็นจำนวนมากและยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่มะปรางที่มีคุณภาพดีเมื่อถูกคัดเลือกแล้วจากผลผลิตของเกษตรกรจะสามารถส่งออกได้มีปริมาณน้อยมากเพียงร้อยละ 5 ของผลผลิตทั้งหมดขณะที่ตลาดในต่างประเทศมีความต้องการมะปรางคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ผลผลิตส่วนใหญ่ที่ไม่ได้คุณภาพจะถูกขายในประเทศซึ่งทำให้ได้ราคาต่ำกว่าผลผลิตที่ส่งออกมาก เนื่องจากเกษตรกรบางพื้นที่ยังขาดความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิตมะปราง จึงมักประสบปัญหาด้านคุณภาพ และปริมาณของมะปรางไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการ ดังนั้นหากมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีและเหมาะสม จะสามารถผลิตมะปรางที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
ดังนั้นคณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์” ให้แก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้สนใจ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และจังหวัดอื่น ๆ จำนวน 200 คน ในหัวข้อเรื่องการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ โดยมีเนื้อหาในการบรรยาย ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร กรณีตัวอย่าง มะยงชิด มะปรางหวาน การผลิตมะปรางหวานและมะยงชิดเชิงการค้า และปุ๋ยสั่งตัด พร้อมจัดทำวีดิทัศน์ และคู่มือเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ แจกเข้ากับผู้ร่วมโครงการ จัดการศึกษาดูงานแก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้สนใจจำนวน 30 คน ศึกษาดูงานในสภาพแปลงปลูกของเกษตรกรใน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ศึกษาดูงาน ณ สวนมะปรางคุณอำนวย หงษ์ทอง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก และศึกษาดูงาน ณ สวนคุณ อำนวย อินไชยะ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก และศึกษาดูงาน ณ สวนคุณบุญแทน สระทองแดง ณ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมอบรมต่อการดำเนินการจัดอบรมและการประเมินระดับความเข้าใจและสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ พบว่า ในด้านการดำเนินงานโดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด และการประเมินระดับความเข้าใจและความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ พบว่า มีระดับความเข้าใจและความสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในระดับมากที่สุด เช่นกัน