อัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าวและมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับโลกและสนับสนุนให้จังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีของโลก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ คือ การสร้างความมั่นใจในการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพื่อทำให้การทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้เกิดความยั่งยืน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ตลาดอัญมณีประสบปัญหาและความท้าทายหลายด้าน อาทิ การมีอัญมณีสังเคราะห์เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก การปรับปรุงคุณภาพพลอยที่มีวิธีที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กอรปกับการมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีของเอกชนเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้นโดยรัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการเหล่านี้ ซึ่งทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์อัญมณีอาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นมาตรฐานสากล ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อในมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองผลอัญมณีและเครื่องประดับนั้นๆ ผู้วิจัยจึงได้ดำเนินงานโดยเข้าให้คำปรึกษากับห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา และบริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ให้บริการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีที่เป็นจังหวัดเป้าหมายของโครงการ การดำเนินงานประกอบด้วย (1) การอบรมให้ความรู้และจัดทีมให้คำปรึกษาครอบคลุมตั้งแต่ระบบการบริหารจัดการ การจัดทำเอกสารมาตรฐานการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับตามหลักมาตรฐานสากล ISO Standard มาตรฐานเครื่องมือและกระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบ การทดสอบความรู้ของบุคลากรและความถูกต้องของผลการตรวจสอบ การทำเทียบผลการตรวจสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ การพัฒนาบุคลากรในห้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเพื่อให้พร้อมกับการขอรับรองมาตรฐาน (2) การจัดทำระบบสารสนเทศในรูปแบบเว็บไซต์ www.gitstandard.com เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านอัญมณีและโลหะมีค่ากับมาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานการทดสอบ/ตรวจวิเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้ และ (3) การจัดสัมมนาถ่ายทอดความรู้ด้านงานมาตรฐานอัญมณีให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี อาทิ ผู้ประกอบการ คนเดินพลอย นักวิชาการ นิสิต/นักศึกษา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้นจำนวน 71 คน