การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการการพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย
เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อพัฒนากระบวนการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากใบอ้อย 2. เพื่อสร้างแนวทางและต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ใช้แนวคิดการออกแบบจากทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจ 3.เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เส้นใยจากใบอ้อยสู่กลุ่มเป้าหมาย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเส้นใยใบอ้อย และการย้อมสีธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอยู่ในชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการมีจุดเด่น คือ มีส่วนผสมจากใยอ้อย สร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว การกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน การนำทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจเข้ามาเชื่อมโยง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการลดการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่นำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP) ทั้งในส่วนของการผลิต การใช้สินค้า และการบริการที่สนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษและของเสียตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและการบริการ โดยมุ่งเน้นการผลิตและการใช้สินค้าและการบริการที่ยั่งยืน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมทั้งเน้นการคำนึงถึงตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน การใช้ซ้ำ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์
การอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การผลิตและใช้ประโยชน์เส้นใยใบอ้อยเพื่อใช้ในงานสิ่งทอในเชิงพาณิชย์ขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 50 คน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นใยใบอ้อย การเตรียมเส้นใยใบอ้อยเพื่อนำมาปั่นกับฝ้าย เพื่อให้ได้เส้นด้ายที่มีคุณภาพ กระบวนการย้อมสีธรรมชาติจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร กระบวนการทอ และการขึ้นต้นแบบ รวมทั้งได้นำเสนอความรู้ทางด้านการตลาด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีความรู้ในการวางแผนระบบบริหารธุรกิจสิ่งทอจากเส้นใยใบอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาอย่างแท้จริง
การประเมินผลงานการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์การแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย ในด้านความเป็นเอกลักษณ์และศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (X=4.42,S.D.=0.59) การประเมินผลงานรูปแบบความสามารถผลิตได้จริง ใช้สอยได้ดี การใช้ประโยชน์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (X=4.24,S.D.=0.64) การประเมินผลงานมีความสวยงามและความน่าสนใจ รูปแบบแปลกใหม่ สะดุดตา ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( X=4.23,S.D.=0.70) การประเมินผลงานรูปแบบผลิตภัณฑ์ขนาดเหมาะสมกับวัสดุและการใช้งาน ขนาดพอดี การใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (X=4.32,S.D.=0.68) และการประเมินผลงานความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มมูลค่าในทางการตลาดได้ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (X=4.49,S.D.=0.47)