การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาสถานการณ์การจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำพื้นที่สูงตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 2. เพื่อศึกษาคุณค่า อัตลักษณ์ของทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานพระราชดำริในโครงการพัฒนาพื้นที่สูง 3. เพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างชุมชนบ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ทั้งกลุ่มบุคคลที่เป็นชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้บริหารองค์กร เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 178 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative approach) การสัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม (Focused group interview) และประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory action research: PAR) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative approach) ใช้เครื่องมือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย ดังนี้
- สถานการณ์การจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำพื้นที่สูงชุมชนบ้านขุนแตะ พบว่า สถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมี 4 ช่วง คือ 1) ยุคบุกเบิก เป็นยุคทำไร่หมุนเวียน (Rotational Farming) พึ่งพาธรรมชาติตามวิถีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 2) ยุคพัฒนาภายนอกสู่ชุมชน มีหน่วยงานทั้งรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมาปรับเปลี่ยนให้เลิกปลูกฝิ่น ส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ 3) ยุครัฐและการช่วงชิงทรัพยากร รัฐสร้างวาทกรรมเกิดการช่วงชิงพื้นที่และทรัพยากรนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนต้นน้ำกับปลายน้ำและอคติทางชาติพันธุ์ 4) ยุคแม่สร้าง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระองค์ทรงสร้างฟาร์มฯ เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรักษ์ป่าควบคู่กัน
- คุณค่า อัตลักษณ์ของทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานพระราชดำริในโครงการพัฒนาพื้นที่สูง พบว่า อัตลักษณ์ชาวปกาเกอะญอ เกิดจากการสั่งสมทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นบนวิถีคนกับป่า เช่น เดปอถู่ หลื่อเหม่โต หลื่อปก่า (LhujPgaka) หลื่อทีโบ ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามพระราชดำริที่สร้างความยั่งยืนแก่พื้นที่และชุมชน
- ต้นแบบชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ พบว่า การพัฒนาสร้างชุมชนเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรป่าฯ คือ ขุนแตะโมเดล (KHUNTAE Model) โดยประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมต้นแบบดังกล่าวโดยรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅=4.46) จำแนกเป็นรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 9 ข้อ และอยู่ในระดับมาก จำนวน 12 ข้อ โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากที่สุดไปหาค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ด้านทำไร่ทำนาแบบลงแขกของชุมชนสามารถเป็นศูนย์รวมสร้างความสุขในวิถีแบบพอเพียง (x ̅=4.92) ด้านจิตวิญญาณในพิธีกรรมความเชื่อดั่งเดิมสามารถรักษาป่าชุมชนที่สนองพระราชดำริในแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง (x ̅=4.87) และด้านพิธีหลื่อเหม่โตกับพิธีเลี้ยงฝายเป็นจิตวิญญาณการจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำของชุมชนตามแนวพระราชดำริ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” (x ̅= 4.79) ตามลำดับ กล่าวได้ว่าป่าชุมชนเป็นพื้นที่จิตวิญญาณและพื้นที่ชีวิตอย่างแท้จริง