การรีไซเคิลพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนนับเป็นการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความสำคัญ การศึกษาถึงความปลอดภัยและบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีความจำเป็นต่อการพัฒนารูปแบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด PP และ PE และนำองค์ความรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีนำไปสู่การถ่ายทอดและประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการ พนักงานและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่ปลอดภัย โดยการศึกษาครั้งมีสถานประกอบการสมัครใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 7 แห่ง ซึ่งวิธีการดำเนินโครงการวิจัยประกอบด้วยการสำรวจเชิงนโยบายของภาครัฐ การจัดประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ อากาศ ความเข้มแสง เสียง ระดับความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน การรวบรวมข้อมูลและประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดี และการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์และการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่มีศักยภาพในการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการเติมเต็มองค์ความรู้ในการสนับสนุนการจัดการพลาสติกรีไซเคิลอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยนี้มีอุปสรรคการดำเนินงานบางประการ โดยเฉพาะการขาดความร่วมมือจากสถานประกอบการในการอนุญาตให้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงลึก ส่งผลให้โครงการเก็บข้อมูลวิจัยครบถ้วนในสถานประกอบการเพียง 4 แห่ง จากผลการสำรวจด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตพบว่าไอระเหยของสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากกระบวนการหลอมซึ่งใช้อุณหภูมิสูงถึง 180-220 องศาเซลเซียส (ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของพลาสติก) เป็นขั้นตอนการผลิตที่มีความเสี่ยงสูงและควรได้รับการแก้ไขและปรับปรุง เพื่อลดผลกระทบด้านความปลอดภัยและอันตรายจากสิ่งแวดล้อมดังกล่าว อีกทั้ง ในพื้นที่ปฏิบัติงานยังมีการใช้แรงงานป้อนวัตถุดิบเข้าสู่ท่อหลอมซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากความร้อนสะสมในร่างกายได้โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ขณะเดียวกัน กระบวนการหลอมได้ปลดปล่อยไอระเหยซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากการหลอมพลาสติก ซึ่งแม้ว่าสถานประกอบการที่เก็บนั้นมีระบบดูดอากาศก็ยังพบสารอินทรีย์ระเหยได้อยู่ในบริเวณที่มีการหลอมพลาสติก จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในระยะยาวหากมีการรับสัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติที่ดีในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างดีสะท้อนให้เห็นว่ามีการตื่นตัวในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นอย่างมากและได้รับข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ในการจัดทำคู่มือดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากการนำเสนอข้อมูลผลที่ได้จากการศึกษานำไปเสนอต่อผู้ประกอบการและพนักงาน ล้วนเห็นว่าเป็นประโยชน์และจะนำไปใช้ในอนาคต โดยที่บางส่วนอาจยังติดขัดในเรื่องของเวลาและสถานะทางการเงินแต่ก็ให้ความสนใจที่จะปรับปรุงตามข้อเสนอที่คณะทำงานได้เสนอไว้