การดำเนินโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในโครงการได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 เทคโนโลยี คือ
- การทำความสะอาดด้ายฝ้าย และการย้อมสีด้ายฝ้ายด้วยสีย้อมธรรมชาติ (เทคโนโลยีหลัก)
- การปลูกด้ายฝ้ายสีธรรมชาติ (สีน้ำตาล และสีเขียว)
- การออกแบบลายผ้าทอ
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอแบบร่วมสมัย
- การยืด และคลายกล้ามเนื้อด้วยการรำกระบอง
กิจกรรมและวิธีดำเนินงานในโครงการนี้จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ คือเน้นการลงมือปฏิบัติร่วมกันระหว่างสมาชิก/คนในพื้นที่ กับอาจารย์ นิสิต และผู้วิจัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สามารถวิเคราะห์และอธิบายผลที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานให้กับสมาชิกในกลุ่มทอผ้าอื่นๆ และผู้ที่สนใจต่อไปได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น พบว่า เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากสีธรรมชาติให้มีความหลากหลายทั้งเฉดสี ลวดลายผ้าทอ ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ซึ่งผลิตจากผ้าทอไทลื้อ ส่งผลให้สมาชิกในกลุ่มทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.97 ต่อเดือน และมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 117.79เนื่องจากผ้าทอที่ทอด้วยสีย้อมธรรมชาติมีราคาแพงมากกว่าสีสังเคาะห์ 2–3 เท่า และได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งมอก และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านมาง จัดทำ “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอไทลื้อบ้านทุ่งมอก (เชียงม่วน)” ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งมอก ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งใช้เป็นแหล่งศึกษาเรื่องราว ประเพณี วัฒนธรรมการทอผ้า ปั่นฝ้าย การย้อมสีธรรมชาติตามแบบฉบับไทลื้ออย่างครบวงจร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้มาเยือน จึงเป็นแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางปัญญาและวัฒนธรรมของเยาวชนชาวเชียงม่วนและสาธารณชนในวงกว้างสืบไป