ความสำคัญและที่มาของปัญหาของโครงการ จากความต้องการรังนกนางแอ่นของตลาดภายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยของนกแอ่นกินรัง ทำให้รังนกนางแอ่นจากบ้านนกแอ่นกินรัง ได้กลายเป็นแหล่งผลิตหลักของการผลิตรังนกนางแอ่นป้อนสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปัจจุบันการสร้างบ้านนกแอ่นกินรัง จึงเป็นการลงทุนใหม่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออก มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่อาศัยเดิมของนกแอ่นกินรัง
จุดประสงค์การวิจัยหลักของชุดโครงการวิจัย สร้างองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนธุรกิจบ้านรังนกแอ่นกินรังไทย ผ่านการทำงานของโครงการวิจัย 5 เรื่องประกอบด้วย (1) มาตรการทางกฎหมายในการ บริหารจัดการการประกอบธุรกิจบ้านนกแอ่นกินรัง (2) รัฐ ทุนนิยม ผู้คนกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเปรียบเทียบธุรกิจรังนกบ้านในประเทศไทยและอินโดนีเซีย (3) อุตสาหกรรมโรงล้างรังนกไทย (4) องค์ความรู้พฤติกรรมนกแอ่นกินรังในบ้านรังนกประเทศไทย (4) นวัตกรรมควบคุมระบบบ้านนกแบบดิจิทัล
ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยแบบผสมผสานการวิจัยเชิงคุณภาพกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการบ้านนกแอ่นกินรังในประเทศไทย มีพื้นที่วิจัยหลักอยู่ที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีการดำเนินการแบบผสมผสานแลกเปลี่ยนตรวจสอบข้อมูลระหว่างนักวิจัยกับกลุ่มเป้าหมาย โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการจำนวน 4 ครั้ง ในการประชุมฯ แต่ละครั้งเป็นการแลกเปลี่ยนโจทย์ปัญหาและข้อมูลระหว่างนักวิจัยกับกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือนักวิจัยรับโจทย์ประเด็นปัญหาไปค้นคว้าวิจัยนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน ตรวจสอบกับกลุ่มเป้าหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน แล้วประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ 1 ครั้ง รวมเป็นการจัดประชุมกลุ่มเป้าหมายจำนวน 5 ครั้ง แล้วจึงนำผลการวิจัย-องค์ความรู้ เผยแพร่รูปแบบหนังสือคู่มือองค์ความรู้ และไฟล์ดิจิทัล เพื่อความสะดวกต่อการเข้าถึงของผู้สนใจ
ผลการวิจัยของชุดโครงการวิจัย พบว่าโครงการวิจัยย่อย ทั้ง 5 โครงการเสนอองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนธุรกิจบ้านนกในประเทศไทย คือ (1) มาตรการทางกฎหมายในการ บริหารจัดการการประกอบธุรกิจบ้านนกแอ่นกินรัง มีข้อเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมเศรษฐกิจบ้านนกแอ่นกินรัง เช่น การเปลี่ยนนิยามกฎหมายนกแอ่นกินรังจากสัตว์สงวนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ การทำระบบรวมศูนย์การดำเนินการหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง เป็นต้น (2) รัฐ ทุนนิยม ผู้คนกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเปรียบเทียบธุรกิจรังนกบ้านในประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีข้อเสนอปัญหาความขัดแย้งและทางออกระหว่างผู้ประกอบการบ้านนกในชุมชน ด้วยวิธีการประณีประนอม และการประสานผลประโยชน์ ด้วยการสร้างข้อบังคับของชุมชน (3) อุตสาหกรรมโรงล้างรังนกไทย รวบรวมองค์ความรู้เรื่องการล้างรังนกนางแอ่นเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตรังนกนางแอ่นดิบ และเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากด้วยการจ้างงานล้างรังนก (4) องค์ความรู้พฤติกรรมนกแอ่นกินรังในบ้านรังนกประเทศไทย พบว่าพฤติกรรมภายนอกอาคาร นกแอ่นออกหากินตั้งแต่เช้าตรู่ตามยอดไม้ แหล่งน้ำภูเขาสูง หากินเป็นวางกว้าง และบินได้สูงโดยไม่ต้องเกาะพัก พฤติกรรมภายในอาคารคือ นกจะสร้างรังทดแทนรังเดิม วางไข่ครั้งละ 2 ใบ อาศัยรวมกลุ่มในที่มืดส่งเสียงร้องตลอดคืน ระยะเวลาในการสร้างรัง 50-60 วัน วงจรชีวิตของลูกนกต้องแต่วางไข่จนกระทั่งออกบิน รวม 35 วัน วงจรการวางไข่ 3 ครั้งต่อปี (5) นวัตกรรมควบคุมระบบบ้านนกแบบดิจิทัล ประดิษฐ์รวบรวมอุปกรณ์ควบคุมบ้านนกแอ่นกินรังหลายชิ้นมาเป็นเครื่องเดียวและเชื่อมต่อควบคุมด้วยระบบดิจิทัลออนไลน์ สามารถเก็บข้อมูลความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ที่เหมาะสมสำหรับบ้านนกแอ่นกินรังเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต