โครงการ “การจัดการความรู้การวิจัยระบบบันทึกข้อมูลลายนิ้วมือนอกสถานที่เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง” เป็นความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยรูปแบบการดาเนินโครงการจะเป็นการให้ความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับการใช้งานระบบบันทึกข้อมูลลายนิ้วมือนอกสถานที่ ซึ่งเป็นระบบที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาแล้วเสร็จพร้อมถูกนำไปใช้งานในการตรวจสอบอัตลักษณ์ของกลุ่มบุคคลในอนาคตตามความเหมาะสมของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต่อไป
โครงการการถ่ายทอดองค์ความรู้ชุดตรวจสารระเบิดราคาประหยัดสำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ “ชุดตรวจสารระเบิดราคาประหยัด” ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าว ได้แก่ ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (ตำรวจ EOD) เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจที่เกี่ยวข้อง
โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การถ่ายทอดองค์ความรู้ชุดตรวจสารระเบิดราคาประหยัดสำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงหลักการ และวิธีการใช้งานชุดตรวจสารระเบิดราคาประหยัดอย่างถูกต้อง และเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้องค์ความรู้ได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงชุดตรวจฯ ให้เหมาะกับการใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น ก่อนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการคณะผู้ดำเนินงานได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้และโครงการฯ ที่ได้รับสนับสนุนทุนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 (ลำปาง) ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 8 (สุราษฎร์ธานี) ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 (สงขลา) และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 (ยะลา) พิสูจน์หลักฐานจังหวัดภูเก็ต และกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และได้รับข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงขนาดของชุดตรวจฯ ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้จริง จึงนำข้อเสนอแนะเบื้องต้นมาปรับปรุงต้นแบบฯ พร้อมกับจัดทำคู่มือวิธีการใช้ และการเก็บรักษาชุดตรวจฯเพื่อใช้ประกอบการจัดอบรมดังกล่าวเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจในรายละเอียดขององค์ความรู้มากขึ้น
คณะผู้ดำเนินงานได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 9 ครั้ง มีผู้เข้าอบรม จำนวน 194 คน ประกอบด้วยตำรวจพิสูจน์หลักฐาน 103 คน ตำรวจ EOD 29 คน ตำรวจประจำสถานีใน 4 อำเภอส่วนหน้าจังหวัดสงขลา (พื้นที่รอยต่อจังหวัดปัตตานี) จำนวน 62 คน ผลการวิจัยผ่านแบบสอบถามระหว่างการจัดอบรม พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 149 คน (จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 173 คน) เล็งเห็นว่า โครงการนี้เกิดประโยชน์กับตนเองมาก และมากที่สุด (ร้อยละ 86.13) โดยกลุ่มเป้าหมายจำนวน 146 คน ไม่เคยใช้งานชุดทดสอบสารระเบิดในสถานที่เกิดเหตุ และในห้องปฏิบัติการมาก่อน (คิดเป็นร้อยละ 84.39) ตรงข้ามกับผลการวิจัยที่สอบถามถึงประโยชน์ของการใช้ชุดทดสอบสารระเบิดเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 3 คน (ร้อยละ 1.73) ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชุดทดสอบดังกล่าวซึ่งสอดคล้องกับงานพิสูจน์หลักฐานระดับสากลที่จะมีการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นโดยใช้หลักการ color test ตรวจหาชนิดของสารระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในสถานที่เกิดเหตุระเบิดก่อนการนำวัตถุพยานส่งตรวจยืนยันโดยใช้เครื่องมือขั้นสูงในห้องปฏิบัติการ ผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้ได้ทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบกับงานพิสูจน์หลักฐาน/ตรวจสถานที่เกิดเหตุของประเทศไทยอย่างยิ่งเนื่องจากข้อมูลชนิดของสารระเบิดที่ใช้ในการก่อเหตุระเบิดในเบื้องต้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับงานด้านสืบสวนสอบสวนได้ ทำให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนสามารถจับตากลุ่มคนที่คาดว่าจะเป็นผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว และทันเหตุการณ์ รวมไปถึงประโยชน์ต่อการเก็บวัตถุพยานและการวางแผนการตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการ จะทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศอย่างมาก
ในขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจในต้นแบบชุดตรวจฯ ที่คณะผู้ดำเนินงานนำไปใช้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ (เป็นต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการที่ผ่านการทดลองใช้สำหรับทดสอบหาชนิดของสารระเบิดจากการจำลองสถานการณ์ระเบิดบางส่วนแล้ว) พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวนเพียง 1 คน ที่เห็นว่า ต้นแบบฯ ที่พัฒนาขึ้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน (ร้อยละ 0.58) ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เหลือมีความเห็นว่า มีความเหมาะสมอยู่แล้ว และทุกหน่วยงาน (ร้อยละ 100) แจ้งความประสงค์จะขอรับชุดทดสอบฯ ไปใช้งานกว่า 1486 ชุด ซึ่งคณะผู้ดำเนินโครงการได้จัดส่งต้นแบบฯ ฉบับปรับปรุงให้กับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ศูนย์ทั่วประเทศ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง พิสูจน์หลักฐานจังหวัดสตูล และกองกำกับการสืบสวนสอบสวน (ต้นสังกัดของตำรวจ EOD) จำนวน 8 แห่ง จำนวนทั้งหมด 1400 ชุด
ผลการดำเนินโครงการทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้ได้ทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบ (Impact) ต่องานพิสูจน์หลักฐาน และงานเก็บกู้ระเบิดของประเทศไทยอย่างยิ่ง ต้นแบบชุดตรวจฯ ที่นำส่งให้กับหน่วยงานดังกล่าวนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิดทราบชนิดของสารระเบิดในเบื้องต้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังทำให้สามารถลดจำนวนวัตถุพยานที่จะต้องวิเคราะห์โดยเครื่องมือขั้นสูง ทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศชาติจำนวนมาก