โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประเทศไทย หากรอดชีวิตก็จะมีอัมพฤกษ์ โดยไทยมีผู้ป่วยสะสมราว 400,000 ราย เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ ทำให้เซลล์สมองตายอย่างเฉียบพลัน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้สามารถกลับมาควบคุมร่างกายตัวเองได้อีกครั้ง แต่หากผ่านการฝึกซักระยะและผู้ป่วยยังไม่เห็นผลการพัฒนา อาจเกิดอาการเบื่อหน่ายและล้มเลิกการบำบัดได้ จะเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคมตลอดไป
เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีร่วมกับการบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์โดยใช้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยในการควบคุมคอมพิวเตอร์เกมส์ ทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกทั้งสมองและร่างกายควบคู่กัน และรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินเวลาได้ฝึกจึงฝึกได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องมือฯนี้ส่วนใหญ่มีราคาสูงมาก (หลายล้านบาท) มีใช้ไม่เกิน 10 แห่งในประเทศ แม้มีการประยุกต์ใช้ consumer product (Nintendo Wii, Micosoft Kinect) ที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อควบคุมเกม แต่อุปกรณ์นี้ออกแบบให้คนปกติเล่นไม่สามารถตรวจจับการเคลื่อนที่น้อยๆช้าๆของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ได้
กลุ่มผู้วิจัยได้พัฒนา “ระบบบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ด้วยเกมส์แอนนิเมชั่น” จุดเด่นอยู่ที่วิธีการตรวจจับตำแหน่งแขนที่ได้ผลแม่นยำและราคาไม่สูงโดยการประยุกต์ใช้กระดานเลื่อนแขน ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการบำบัด และเพิ่ม sensor ตรวจจับสี ติดตั้งที่กระดานเลื่อนและแผ่นสีติดที่โต๊ะเพื่อกำหนดตำแหน่งเป้าหมาย วิธีนี้สามารถตรวจจับตำแหน่งมือได้แม่นยำแม้การเคลื่อนที่น้อยๆช้าๆของผู้ป่วย และผลิตได้ในราคาไม่สูง โดยตั้งชื่อระบนี้ว่า “ฝึกฝน”
โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ ได้ผลิตและจัดอบรมการใช้งาน รวมถึงส่งมอบระบบ “ฝึกฝน” นี้ให้โรงพยาบาลรัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักกิจกรรมบำบัดทั่วไทยประเทศรวมตัวกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อความสะดวกในการจัดอบรมและมอบเครื่อง โดยในปี 2560 ได้ส่งมอบรวม 40 ชุดให้ 38 โรงพยาบาล ใน 21 จังหวัด ประหยัดงบประมาณรัฐที่ต้องนำเข้าเครื่องมือบำบัดนี้หลายสิบล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น “ฝึกฝน” ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบำบัดเด็กพิเศษที่มีปัญหาทางสมอง (เด็กสมาธิสั้น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และ cerebral palsy) ทำให้ “ฝึกฝน” มีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าที่ตั้งใจไว้ ในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยได้จัดอบรมและส่งมอบเพิ่มให้อีก 39 โรงพยายาลจาก 20 จังหวัด ณ ปัจจุบัน ระบบฝึกฝนถูกนำไปใช้ประโยชน์กว่า 75 โรงพยาบาลรัฐ จากทั้งหมด 150 แห่งที่มีนักกิจกรรมบำบัด
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ ว.ช. ที่สนับสนุน “ฝึกฝนทั่วไทย ระยะที่ 1” ทำให้เครือข่ายนักกิจกรรมบำบัดทั่วประเทศได้รู้จักเครื่องมือที่คนไทยเป็นผู้ผลิต& และสามารถขยายผลนำไปสู่การช่วยบำบัดผู้ป่วยทั้งประเทศได้